สอบเข้ามหาวิทยาลัย

3 คำชวนมึน ที่เจอในระเบียบการบ่อยๆ GPA GPAX PR



GPA เกรดเฉลี่ย, GPAX ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม และ PR เปอร์เซ็นไทล์ 3 ค่านี้อาจทำน้องๆ หลายคนสับสน มึนงงกันยกใหญ่ตอนอ่านระเบียบการ ว่าสรุปแล้วค่าพวกนี้มันคืออะไรกันแน่ แล้วจะหามาได้จากไหน วันนี้เรามีคำตอบมาให้น้องๆ กัน
 
เกรดเฉลี่ย (GPA)
GPA ย่อมาจาก Grade Point Average หรือที่เราเรียกว่า "เกรดเฉลี่ย" คือ ผลการเรียนของแต่ละรายวิชา เช่น  GPA กลุ่มสาระวิชาภาษาไทย, GPA กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์  หรือ อาจจะไว้เรียกเกรดเฉลี่ยในแต่ละเทอมก็ได้ เช่น เกรด ม.6 เทอม 1 ได้ GPA 3.25 และ ม.6 เทอม 2 ได้ GPA 3.30 เป็นต้น
 
เกรดเฉลี่ยสะสม หรือผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX)
GPAX หรือ เกรดเฉลี่ยสะสม อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การเอาเกรดทุกเทอม ทุกวิชา มารวมกันและทำการเฉลี่ยนั่นเอง เช่น ถ้าใช้ GPAX 5 เทอม  ก็หมายความว่า ใช้เกรดเฉลี่ยตั้งแต่ ม.4 เทอม 1 ถึง ม.5 เทอม 1 หรือ ถ้ากำหนดมาว่าใช้ GPAX ตลอดหลักสูตร ก็หมายความว่าใช้เกรดทั้ง 6 เทอมนั่นเอง หรือที่น้องๆ จะเห็นได้บ่อยๆ ในระเบียบการรับนักศึกษา คือ ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) กลุ่มรายวิชา เช่น กำหนดให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 3.00 หมายถึงการเอาเกรดทุกเทอมที่มีของ วิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มารวมกันหาค่าเฉลี่ย แล้วต้องได้ตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไปถึงจะผ่านเงื่อนไข
 
วิธีการคิด
    1. ต้องการคิด GPAX รวมกี่เทอม ให้เอาเกรดและหน่วยกิตของเทอมที่ใช้มาทั้งหมด
    2. นำเกรดที่ได้ในแต่ละวิชา x หน่วยกิตของวิชานั้นๆ ทำให้ครบทุกวิชา
    3. บวกผลรวมจากข้อ 2 ทั้งหมด
    4. นำผลรวมจากข้อ 3 หารด้วย ผลรวมของหน่วยกิตทั้งหมด
 
ตัวอย่างการคิด GPAX
ถ้าน้องๆ การเรียนการสอนตลอดทั้งเทอม 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แล้วในระเบียบการระบุว่าต้องการ GPAX 2 เทอม


 
เปอร์เซ็นไทล์ (PR)
คำว่า "เปอร์เซ็นไทล์ (Percentile)" มักปรากฏอยู่ในระเบียบการรับตรงของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการรับสมัครให้น้องๆ เห็นอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน ซึ่งค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์นี่ก็คือการวัดค่าตำแหน่งของข้อมูล เมื่อเทียบจากร้อยจะมีผู้ที่ได้คะแนนน้อยกว่า มากกว่า หรือเท่ากับตำแหน่งนี้เท่าไหร่ ค่าเปอร์เซนไทล์จะเรียงลำดับคะแนนจากน้อยไปหามาก โดยใช้การเทียบเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนทั้งระดับชั้น คล้ายกับเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลนั่นเอง
 
ยกตัวอย่าง  นักเรียนในระดับชั้น ม.6 ของโรงเรียนแอดมิดชันวิทยา มีจำนวนทั้งสิ้น 100 คน คนที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสมน้อยที่สุดจะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ 1 เรียงลำดับไปจนถึงคนที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสมสูงสุด ถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ 100 หรือยึดครองอันดับที่ 1 ของระดับชั้นปี ทั้งนี่บางโครงการน้องๆ จะเห็นว่า มีการระบุคุณสมบัติผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่มีผลการเรียนใน 10 อันดับแรกของแผนการเรียนก็ได้
 
จะหาค่าตำแหน่งเปอร์เซนไทล์ ได้จากไหน?
ด้วยสูตรการหาค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์นั้นค่อนข้างลึกลับ ซับซ้อน ต้องใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมของนักเรียนทั้งระดับชั้นปีโดยไม่แยกแผนการเรียน ฉะนั้นหากน้องๆ มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับการสมัครรับตรง แนะนำว่าสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายทะเบียนหรือฝ่ายวิชาการเพื่อขอรับใบแสดงค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์มาเป็นหลักฐานเพื่อรับรองผลการสมัครได้เลย
 
หวังว่าหลังจากนี้หากน้องๆ เห็น GPA, GPAX และ PR เปอร์เซ็นไทล์ อยู่ในระเบียบการรับตรง หรือที่ไหนๆ จะสามารถแยกออกได้ทันทีว่าหมายถึงค่าไหน หามาได้อย่างไร และสามารถสอบติดกันทุกคน