สอบเข้ามหาวิทยาลัย

แนวทางการศึกษาไทย พัฒนาทักษะใหม่ ช่วยเด็กไทยให้อยู่รอด


การศึกษาไทยต้องพัฒนาไปในทิศทางไหน? ครูต้องมีบทบาทอย่างไร? และเด็กไทยต้องมีทักษะอะไรบ้าง? เพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคตการทำงาน และสามารถอยู่รอดได้ในโลกแห่งการแข่งขันที่ทุกคนล้วนต้องฟาดฟันเพื่อความเป็นหนึ่ง บทความนี้เราขอนำบทสัมภาษณ์ของ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากน้องๆ คุณครู ผู้ปกครอง รวมถึงทุกๆ คนที่กำลังสนใจอนาคตการศึกษาของไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และจะมีประเด็นอะไรที่ควรรู้ไว้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตนับจากนี้บ้าง 

 

" ตอนนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเปลี่ยนหมดแล้ว วิธีการเรียนรู้ วิธีการเข้าถึงข้อมูล ธรรมชาติการเรียนรู้คนมันเปลี่ยน มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น มันทำให้โจทย์การศึกษาแบบเดิมที่เน้นการส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดความรู้ ไม่เวิร์คกับเด็กรุ่นนี้ เด็กปัจจุบันเติบโตมากับทักษะอีกแบบหนึ่ง ถูกเรียกร้องให้ต้องมีทักษะในการหาข้อมูลเอง ทักษะในการตรวจสอบข้อมูล ทักษะที่จะเลือกผลิต เลือกแชร์ข้อมูลด้วยตัวเอง มีกระบวนการคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย

เพราะอนาคตเด็กมีความเสี่ยงมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดังนั้น การวางแผนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เด็กต้องวางแผนอนาคต เอาตัวเองไปผูกกับองค์กรเหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นและมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องการวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ทักษะอีกแบบหนึ่ง โจทย์แบบนี้ทำให้ผู้สอนต้องเปลี่ยนแปลงและมองการจัดการศึกษาให้เป็นการจัดโอกาสที่เกิดการเรียนรู้ "


การเรียนด้วยตัวเอง คือนำตัวเองในการเรียนรู้ รู้ว่าสนใจเรื่องอะไร รู้วิธีการหาข้อมูล วิธีการได้มาซึ่งข้อมูล และกลั่นกรองเป็น มีทักษะเรื่องการคิด การวางแผนและจัดการชีวิตตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และเป็นโจทย์ใหม่ๆ ของการศึกษาทั้งของไทยและของโลก เพราะฉะนั้น เมื่อมีโจทย์ใหม่เข้ามานักการศึกษาหรือครูก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การเน้นให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง เป็นทักษะที่จำเป็นมากยิ่งขึ้น
 
ครูกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ นั่นคือบทบาทที่ชัดเจน เมื่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ครูไม่สามารถเป็นผู้ครอบครองความรู้ได้เหมือนแต่ก่อน แต่ครูต้องเรียนรู้ไปกับเด็ก ทำให้บทบาทของครูในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เป็นโจทย์ที่ต้องเตรียมพร้อม ครูรุ่นใหม่และครูที่อยู่ในระบบอยู่แล้วก็ต้องปรับตัว เพราะจากนี้ไปการรอตำราเรียน รอความรู้ที่ครูถ่ายทอดไม่เพียงพอแล้ว เพราะข้อมูลเด็กเข้าถึงได้เร็วกว่าการมาเจอครู โจทย์เหล่านี้มีส่วนในการเปลี่ยนคนทำงานการศึกษา ก็คือตัวครู " ผศ.อรรถพลเน้นย้ำ

ครูต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวเองมีความคิดในเรื่องสร้างสรรค์และทักษะบางอย่าง เช่น การเป็นผู้ประกอบการ มอเห็นช่องทางการทำธุรกิจ การที่จะปั้นเด็กแบบนี้ได้ ครูก็ต้องส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ทำงานกับคนและวางแผนชีวิตเป็น 
 
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษายังมีส่วนสำคัญ แม้จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างมากขึ้นเพราะจำนวนเด็กที่เข้าเรียนน้อยลง เนื่องจากค่านิยมของสังคมยังติดกับดักว่าต้องเข้าเรียนมหาวิยาลัยที่มีชื่อเสียง เรียนคณะที่ตอบโจทย์แรงงาน แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีมักจะเห็นการประกาศว่าอาชีพไหนจะสูญพันธ์ุไปบ้าง ซึ่งสะท้อนว่าโลกของงานเปลี่ยนเร็วมากขึ้นในปีต่อปี เพราะฉะนั้นกว่าจะเรียนจบ บางทีที่คิดว่า งานที่อยากทำหลังเรียนจบอาจพ้นสมัยไปแล้ว

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

" คนยุคใหม่จึงต้องมีทักษะการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ว่าตัวเองเก่งหรือถนัดอะไร มีจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาเรื่องไหน เพราะการแข่งขันมันจะเกิดขึ้นโดยที่ควบคุมไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเร็ว รูปแบบการแข่งขันหรือกติกาก็เปลี่ยนง่าย การที่เด็กรู้ว่าตัวเองคือใคร ทำอะไรได้ จะทำให้โลกของงาน หรือโลกของอาชีพมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเยอะมาก เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมักมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ 

เช่น นักรีวิวสินค้าออนไลน์ติดอันดับ 3 ของอาชีพที่มาแรงมา แสดงให้เห็นว่าใครก็ขายของได้ ไม่ต้องรอมีเงินถ้าเกิดเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นช่องทางที่มีประโยชน์และมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ มีสายตาในการมองโอกาสของการลงทุนได้ก็เริ่มต้นจากการทำเรื่องใกล้ตัวได้ ทั้งหมดนี้ต้องพลิกโฉมห้องเรียน กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูทำกับเด็ก พยายามส่งเสริมความเป็นตัวของเขาเองให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งต้องการครูอีกแบบในการมองเด็ก เคารพความแตกต่างได้ เพราะโลกอนาคตอันใกล้นี้ ความเหมือนกันอาจไปไม่รอด แต่ความต่างกันทำให้เด็กมีจุดแข็งในตัวเองที่ไปเจอเส้นทางอาชีพและอนาคตของตัวเองได้ง่ายมากกว่า " ผศ.อรรถพลกล่าวทิ้งท้าย


ที่มา :  www.voicetv.co.th  และ Athapol Anunthavorasakul