สอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 เทคนิคการอ่านหนังสือแบบนักเรียนญี่ปุ่น





อ่านสารบัญก่อน (เรื่องที่ออกสอบ)

หากเราจะเริ่มอ่านอะไรสักอย่าง การอ่านสารบัญมักถูกมองข้ามอยู่เสมอ แต่เชื่อไหมว่าการอ่านสารบัญก่อนจะทำให้เรารู้ว่าในหนังสือเล่มนี้เขียนถึงอะไรบ้าง หรือง่ายกว่านั้นถ้าเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าการสอบของเราจะมีอะไรมาออกสอบบ้าง เราก็จะสามารถกำหนดเป้าหมาย บทเรียน และเรื่องที่จะอ่านได้จากสารบัญ
 
การอ่านสารบัญก็จะทำให้เราเข้าใจรายละเอียดคร่าวๆ ช่วยให้เราจับใจความได้ว่าเนื้อหาที่สำคัญมีอะไรบ้างและช่วยให้คุ้นเคยกับเนื้อหาได้ง่ายขึ้น
 


มีสมาธิจดจ่อ ทำอะไรทำทีละอย่าง

การติดมือถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา หลายคนอาจถึงขั้นกระวนกระวายเมื่อมือถือห่างตัว ต้องทำนู่นทำนี่ไปด้วยหลายอย่างแม้กระทั่งตอนที่ต้องใช้สมาธิอย่างเวลาอ่านหนังสือ ชีวิตที่มีการ Multitasking มากเกินไปอาจจะดูเหมือนเป็นคนเก่ง แต่หลายคนก็ไม่ได้ทำทุกงานออกมาดีนะในเวลาที่ Multitask แถมแย่สุดๆ คือบางทีทำไม่เสร็จซักอย่างด้วย

ชาวญี่ปุ่นมีไอเดียเรื่องวิธีแก้ดีๆ และเรียบง่าย เช่นการตั้งกฏกับตัวเองว่าจะปิดมือถือหรือเปิดโหมดเครื่องบินเวลาอ่านหนังสือ เพื่อจะได้ไม่วอกแวก มีสมาธิมากขึ้น หากอยากค้นหาข้อมูลในเน็ต ก็จะลิสต์ไว้ แล้วเอามาหาทีเดียว จะไม่เปิดเน็ตค้างเอาไว้ ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
 


อ่านทีละนิดแต่หนักแน่น

คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเราจะมีสมาธิได้อย่างมากก็ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับกันทั่วไปในญี่ปุ่น สังเกตได้จากแต่ละคลาสแทบทั้งหมดในมหาวิทยาลัยจะมีระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ดังนั้นคนญี่ปุ่นจะใจจดใจจ่อกับการอ่านให้เต็มที่แต่จะใช้เวลาไม่นานในแต่ละครั้ง
 
ใครว่ายากเกินไปให้ลองทีละ 15 นาที ซึ่ง 15 นาทีแรกเป็นเวลาวัดใจ ถ้าทำได้ละก็อีก 15 นาทีต่อมาก็จะง่ายขึ้น ทำต่อไปจนค่อยๆ ครบ 1 ชั่วโมงในที่สุด
 



อ่านล่วงหน้าและทบทวนย้อนหลัง

ญี่ปุ่นมีคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่า โยะชู-ฟุคุชู (予習復習) ในกรณีของนักเรียนอย่างเราๆ คำว่าโยะชู หมายถึงการอ่านเตรียมมาก่อนเข้าเรียน ส่วนฟุคุชู หมายถึงการทบทวนสิ่งที่เรียนแล้วอีกครั้ง สำหรับการทบทวนหรือฟุคุชู นั้นนักเรียนไทยส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือโยะชู เพราะเป็นอะไรที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน
 



ทบทวนหลังผ่านไป 20 นาที

เส้นโค้งแห่งการลืมของเอบบิงเฮาส์ระบุว่า หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 20 นาที คนเราจะลืมข้อมูลไปถึง 42% ฉะนั้นหากมั่นใจว่าเข้าใจบทเรียนแล้ว ลองกลับไปทบทวนหลังจากเวลาผ่านไปร่าวๆ 20 นาทีดูว่าเราจำได้จริงหรือไม่ การกลับไปทบทวนแบบนี้หลายๆ ครั้งจะช่วยให้เราจดจำสิ่งที่อ่านไปได้ดีขึ้น
 






ข้อมูลจาก : Facebook ดร ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD
                  All About Japan