สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทำไม ? “วันครู” ถึงแตกต่างกับ “วันไหว้ครู”


ทำไม ? “วันครู” ถึงแตกต่างกับ “วันไหว้ครู”


เนื่องในวันสำคัญวันครูแห่งชาตินี้   พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญวันครู ครั้งที่ 63 ไว้ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี”  ว่าแต่น้องๆ เคยสังเกตไหมว่าทำไมเรามี “วันครู” และ “วันไหว้ครู”  สองวันนี้แตกต่างกันยังไงนะ?  ซึ่งจริงๆแล้วสองวันนี้ไม่ใช่วันเดียวกัน  วันนี้พี่ AdmissionPremium  จะพาน้องๆ ไปรู้จักถึงความแตกต่างของทั้งสองวันนี้ ซึ่งจะแตกต่างกันยังไง? ไปดูกันเลย!!
 


เริ่มต้นที่มารู้จักกับ “วันครู” หรือ “วันครูแห่งชาติ”

         “วันครู” นั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499  จากการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี  โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครู และเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูทั่วไป โดยในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันครู” โดยยึดถือตามวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488  มีการจัดกิจกรรมขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ การจัดงานวันครูได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูแก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ ได้แก่
1. หนังสือประวัติครู
2. หนังสือที่ระลึกวันครู
3. สิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 
          อีกทั้ง “วันครู” ได้จัดขึ้นเพื่อ ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน  การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับสังคมตลอดเวลา   ปัจจุบันการจัดงานวันครูได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ
          สัญลักษณ์วันครูนั้นคือ ดอกกล้วยไม้ ซึ่งถูกประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำวันครูขึ้นในปี พ.ศ. 2539  เนื่องจากคณะกรรรมการจัดงานวันครูได้เล็งเห็นว่าการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ต้องให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่เป็นเวลานาน เพื่อให้ได้ผลิดอกสวยงาม เช่นเดียวกับการใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งวิชาความรู้และนิสัย เพื่อให้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ

น้องๆ ได้รู้จัดถึง “วันครู” ไปแล้วคราวนี้พี่ AdmissionPremium  จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับวันไหว้ครู ซึ่งคิดว่าน้องก็คงรู้จักเป็นอย่างดี

“วันไหว้ครู”

          เริ่มมาจากคนไทยเป้นผู้ที่เคารพผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มาตั้งแต่โบราณอยู่แล้ว ซึ่งการทำพิธีกรรมไหว้ครู ก็เป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูด้วยการระลึกถึงพระคุณของท่าน และอีกนัยหนึ่งคือการแสดงตนว่าขอเป็นลูกศิษย์ 
          “วันไหว้ครู”  ตามสถานศึกษาต่างๆ มักมีเป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว โดยในการจัดพิธีไหว้ครูนั้นมักจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่นับถือเทพเจ้า "พระพฤหัสบดี" ผู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากฤๅษี 19 ตน ช่วงแรกๆ ของการจัดพิธีนั้นมักจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงต้นเทอมแรกของการศึกษา  แต่ด้วยการปรับรูปแบบการเปิดภาคการศึกษาแบบอาเซียน วันที่จัดพิธีไหว้ครูของหลายมหาวิทยาลัยจึงอยู่ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงต้นเทอมแบบอาเซียน
          ในส่วนของ “วันไหว้ครู” นั้นเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคนั้นเอง
          ซึ่งสัญลักษณ์ วันไหว้ครูนั้นคือ  พานไหว้ครูโดยทั่วไปผู้ชายจะถือพานธูปเทียน และผู้หญิงจะถือพานดอกไม้  สัญลักษณ์ของดอกไม้ที่นำมาไหว้ครูนั้น คือ 
1. ดอกมะเขือ  :  แสดงถึงการความอ่อนน้อมถ่อมตนของลูกศิษย์ที่พร้อมจะเรียนรู้วิชาต่างๆ จากครู และมะเขือยังเป็นพืชที่มีเมล็ดมาก ยังมีความหมายถึงการไปเจริญงอกงามง่ายในทุกที่
2. หญ้าแพรก  :  แสดงถึง สติปัญญาของลูกศิษย์ที่สามารถเจริญงอกงามได้ไว
3. ข้าวตอก ข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนร้อนเสมอกัน  :  แสดงถึง ความมีระเบียบวินัยของลูกศิษย์ ที่เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านในตัวเองได้เหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากเปลือก
4. ดอกเข็ม ดอกไม้ปลายแหลมที่มีน้ำหวานซ่อนอยู่ภายใน : แสดงถึง สติปัญญาของลูกศิษย์ที่แหลมคมจากความรู้ ที่ทำให้ชีวิตสดชื่นเหมือนความหวานของดอกเข็ม

มาถึงตรงนี้น้องๆ คงเห็นถึงความแตกต่างของ "วันครู" และ "วันไหว้ครู" ที่มีความแตกต่างกันพอสมควรทั้งวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม  รวมถึงสัญลักษณ์ที่มีความหมายแตกต่างกัน  แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองวันนี้จะต่างกัน  แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นได้เลยว่า ครู นั้นสำคัญเสมอ เพราะ ครูคือผู้ที่สร้างคน ฉะนั้น การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านจึงไม่จำกัดไว้เฉพาะแค่ "วันครู" และ "วันไหว้ครู"  เท่านั้น 





ที่มา
www.teen.mthai.com
www.teen.mthai.com
www.moe.go.th