สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มอง "อาชีวศึกษา" ออสเตรีย สร้างออปชั่นดีดึงเด็กเข้าสู่ระบบ

UploadImage

ประเทศออสเตรียมีการจัดการศึกษารูปแบบอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพมาอย่างยาวนาน โดย 78% ของเยาวชนออสเตรียเลือกเรียนอาชีวศึกษา ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป อีกทั้งบริษัทของออสเตรีย 80% ตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีถึงบริษัทขนาดใหญ่ล้วนเปิดฝึกอาชีพสำหรับผู้สนใจ ซึ่ง 92% ของผู้ที่เข้าฝึกงานดังกล่าวได้งานทำทันทีหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม

ความน่าสนใจด้านอาชีวศึกษาของประเทศออสเตรียทำให้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ร่วมกับสถานทูตออสเตรียประจำประเทศไทย จัดเสวนา Thai-AustrianConference on TVET (Technical Vocational Education and Training) เพื่อปลุกกระแสสังคมยกระดับความสำคัญอาชีวศึกษา โดยมี "ดร.คริสตอฟ มัทซ์เนทเทอร์" รองประธานหอการค้าประเทศออสเตรีย, "โทมัส เมเอ่อร์" ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยคุณภาพและการฝึกอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศออสเตรีย และ "ไรน์ฮาร์ด โนเบาเอ่อร์" ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศออสเตรีย ร่วมบอกเล่าความสำเร็จในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาของออสเตรีย
 

สร้างอาชีวะ 2 รูปแบบ

เริ่มด้วย "ดร.คริสตอฟ มัทซ์เนทเทอร์" ฉายภาพย้อนไปยังปี 2008 ที่ยุโรปประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วงเวลานั้นอัตราการตกงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี กระนั้นพบว่าบางประเทศที่มีระบบให้นักเรียนมาฝึกงานกับบริษัทกลับมีอัตราการว่างงานต่ำสุด และเมื่ออุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงมาถึงปัจจุบันที่ต้องการคนที่มีความคิดและมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาเรื่องคนจึงต้องมีระบบการฝึกงานในโรงงานและบริษัท

"เด็ก ๆ ในออสเตรียกว่า 80% เข้าสู่ระบบอาชีวศึกษา เพื่อมองหาโอกาสในการทำงานขณะเดียวกันนายจ้างจะหาแรงงานผ่านบริษัทจัดหางาน ซึ่งจะมีกระบวนการที่เป็นรูปธรรม ตั้งแต่การทำสัญญาจ้าง มีค่าตอบแทน หรือข้อตกลงในการทำงานกับนายจ้างในอนาคต เรียกได้ว่ามีการมาจองตัวนักเรียนไว้เลย โดยอาชีวศึกษาระบบนี้เป็นแบบทวิภาคีที่เป็นเหมือนการเรียนไปด้วยและได้ทำงานโดยได้ค่าจ้างไปด้วย"

ขณะที่อีกรูปแบบหนึ่งคือการเข้าศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษา นักเรียนที่เรียนในระบบนี้จะเรียนทักษะด้านวิชาชีพเชิงลึก พร้อมกับได้รับความรู้ที่จำเป็นต่อการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งถ้าหากมีเหตุให้พวกเขาต้องออกไปทำงาน ด้วยความรู้ด้านอาชีวศึกษาที่มีอยู่ก็จะทำให้สามารถทำงานได้เลยไม่ต่างจากนักเรียนในระบบแรก

"ระบบเหล่านี้ช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับการทำงานได้และฝึกความรับผิดชอบทั้งยังเรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กรไปในตัวเมื่อเด็กเรียนจบก็สามารถเข้าทำงานกับองค์กรที่ฝึกงานได้เลย เป็นการทำให้องค์กรได้คนที่มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน"

หาคนตอบโจทย์ตลาดงาน

การฝึกอาชีพของนักเรียนในระบบทวิภาคีของออสเตรียจะมีสภาหอการค้าเป็นผู้รวบรวมผู้ประกอบการให้ซึ่ง"โทมัส เมเอ่อร์" บอกว่า สภาหอการค้าจะเข้ามาดูแลภาพรวมการจัดหลักสูตรและการฝึกงาน โดยมีแนวทาง 2 ระดับ คือ รวบรวมความต้องการจากบริษัท หลังจากนั้น สถาบันการวิจัยคุณภาพและการฝึกอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะนำข้อมูลมาประมวลผล พร้อมร่างข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานบุคลากร เพื่อนำไปหารือร่วมกับสภาหอการค้าและสหภาพแรงงาน แล้วนำมาออกแบบเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาที่นำมาใช้ในระดับชาติ

ทั้งนั้น จะมีการกำหนดคุณสมบัตินักเรียนของหลักสูตรว่า ตลาดแรงงานต้องการทรัพยากรบุคคลแบบใด เพื่อผู้ปกครองและเด็ก ๆ ที่เข้ามาศึกษาในระบบนี้จะได้รู้ว่า ตัวเองตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้หรือไม่ และการเรียนอาชีวศึกษาคือทางเลือกของตัวเองหรือไม่

"ในหลายประเทศการเรียนอาชีวะเป็นทางเลือกที่สองซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความคิดไม่ใช่เรื่องง่ายภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุน ด้วยการจัดการระบบการศึกษาให้มีคุณค่าและสามารถต่อยอดได้ โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันต้องให้โอกาสนักเรียนอาชีวศึกษาได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย"

เรียนอาชีวะเป็นผู้บริหารได้

ด้านมุมมองของ"ไรน์ฮาร์ดโนเบาเอ่อร์" ซึ่งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เขากล่าวว่า กระบวนการทำงานด้านอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืนจะต้องบูรณาการทุกประเด็นและทุกส่วนเข้าหากัน อย่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่ต้องสื่อสารระหว่างกันตลอดเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รวมถึงจะมีการอบรมครูให้มีองค์ความรู้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอุตสาหกรรม เพราะครูเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งของการเรียนการสอน
 

"ระบบเศรษฐกิจก็มีผลต่อการศึกษา หากดูการจ้างงานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คนมักจะมาจากสายสามัญ แต่ที่ออสเตรียนั้น ผู้บริหารไม่ได้จบมาจากภาคการศึกษาสายสามัญเท่านั้น เรามีผู้บริหารที่จบมาจากภาคอาชีวะไม่น้อยเลย เช่นเดียวกันในตลาดแรงงาน เรามีการผสมผสานคนที่จบการศึกษามาจากทั้งสองระบบ"

การที่จะทำเช่นนี้ได้จะต้องมาจากการปรับเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนซึ่งออสเตรียอิงจากรูปแบบของงานและผลงานหรือไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนตามระดับการศึกษา นั่นหมายความว่าคนที่จบอาชีวะก็สามารถเป็นผู้บริหารได้และได้รับเงินเดือนสูง ๆ เช่นเดียวกับคนที่จบสายสามัญ นอกจากนั้นไม่ว่าจะจบจากระบบการเรียนแบบใด สถานประกอบการก็จะมีการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาคนให้เติบโตทั้งด้านองค์ความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม "ไรน์ฮาร์ด โนเบาเอ่อร์" มองว่า การสร้างมาตรฐานในการวางหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่แรกเริ่มเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งภาคการศึกษาสายสามัญมีการวางโครงสร้างหลักสูตรที่กำกับดูแลโดยกระทรวงอยู่แล้ว แต่ภาคอาชีวะจะต้องออกแบบหลักสูตรโดยดูจากความต้องการของตลาดงานเป็นหลัก

ดังนั้น ผู้ประกอบการ สภาหอการค้า และภาคธุรกิจต้องมาร่วมออกแบบหลักสูตรและออกแบบมาตรฐานการจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ผู้ปกครองและเด็กเห็นภาพเป้าหมายของการเรียนและการทำงานในอนาคต


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก "ประชาชาติ"

ขอขอบคุณข้อมุลจาก : ประชาชาติ