สอบเข้ามหาวิทยาลัย

จบสายสังคมว่างงานพุ่ง ตอกย้ำแผนผลิตแรงงานเหลว

UploadImage

       ขณะที่ตัวเลขบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีชะตาต้องเตะฝุ่นว่างงานจนเป็นตัวเลขที่สูงและเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวนดังกล่าวถูกระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนในสายสังคมศาสตร์ พวกเขาต้องตกงานเพราะเลือกเรียนในสายที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ ขณะที่สายวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่า กลับมีผู้เลือกเรียนน้อยกว่าในอัตราเฉลี่ย 70/30%

       ปัญหาดังกล่าวทำให้ รมว.ศึกษาธิการ เตรียมใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาให้จำกัดจำนวนการผลิตนักศึกษาบางสาขาวิชาลง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

      “เบื้องต้นจะพิจารณาสายที่มีปัญหาก่อน อาทิ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ส่วนสายบริหาร รัฐประศาสนศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ คงต้องประเมินต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อวางแนวทางปรับเปลี่ยนเรื่องการผลิตบัณฑิตจบใหม่ คาดว่าภายในปี 2560 จะสามารถส่งสัญญาณให้นักเรียนพิจารณาได้ว่า ควรเลือกเรียนสายใดที่เหมาะสมกับตลาดแรงงาน” นพ.กำจร กล่าว
 
       ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนปัญหานี้ว่า มาจากหลากหลายปัจจัย เริ่มจากที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศฉบับต่างๆ ซึ่งมีแผนกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศระบุไว้ชัดเจน ไม่สอดคล้องกับแผนด้านการพัฒนาการศึกษา แม้จะมีการพูดถึงมุมมองเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่สิ่งที่สื่อสารต่อมายังหน่วยงานปฏิบัติ ก็ดำเนินการต่อในรูปแบบของการรับไปสานต่อแบบอ้างแผนถึงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ โดยไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาของทิศทางจริงๆ ประกอบกับทุก 5 ปี จะต้องเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใหม่ การศึกษาจึงปรับตัวแทบจะไม่ทันกับรอบของการเปลี่ยนแปลง

       ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุอีกว่า แผนหลักซึ่งต้องนิ่ง เป็นแผนระยะยาว 25 ปีขึ้นไป แบบเดียวกับที่ประเทศต่างๆ อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เคยทำ แต่เมื่อทั้งสองส่วนไม่สอดรับกันจนสามารถนำไปเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักได้ ประเทศก็เหมือนปรับนโยบายการศึกษาในเชิงตั้งรับ ที่หนักกว่านั้น คือ รัฐบาลบางช่วงไม่ได้สนใจแผนพัฒนาชาติ สนใจแต่แผนของพรรคซึ่งอาจไม่ตรงกับแผนชาติ กระทั่ง สภาการศึกษาซึ่งควรจะเป็นมันสมองและกำหนดทิศทางให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่สามารถเป็นเสาหลักได้เพราะไม่มีใครฟังใคร เรื่องการเตรียมกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


        ยงยุทธ กล่าวว่า การเปิดสอนก็ไม่ได้วัดผลที่ผลลัพธ์เด็กได้ หรือว่าจบไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ แม้จะมีการลงทุนเรื่องการศึกษาสูง แต่เมื่อการสอนในระดับพื้นฐานเตรียมการศึกษาก่อนวัยทำงานล้มเหลวก็ไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบอะไร

       "สิ่งที่ปรากฏชัดเจนว่าทั้งสองแผนไม่ไปในทิศทางเดียวกัน คือปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องการแรงงานระดับล่างแต่รัฐผลิตคนที่มีการศึกษาสูงเพิ่มขึ้นทุกปี มีการสนับสนุนด้านเงินกู้ยืมเรียน อย่างไม่มีเงื่อนไขกำกับชัดเจน เพิ่มมีการกำหนดเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องนี้สร้างตราบาปให้คนที่เรียนจบแล้วไม่มีเงินใช้หนี้มาถึงปัจจุบัน ตกงานด้วยค่านิยม มีใบปริญญาโดยไม่คำนึงถึงการมีงานทำ" ยงยุทธ กล่าว

       เกรียติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองปัญหานี้ว่า กรณีมหาวิทยาลัยไม่ได้วางแผนผลิตคนที่ตลาดแรงงานต้องการ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และแม้ปัจจุบันหลายแห่งต้องการจะขยายสายวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ก็ทำได้ซ้ำหรือมีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะเป็นสายที่ต้องลงทุนสูง หาผู้สอนยากจึงเน้นสายสังคมซึ่งลงทุนน้อยกว่าและมีผู้สอนให้เลือกมากกว่า

      "หลายประเทศเคยประสบปัญหาเรื่องการผลิตคนไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน อเมริกา เยอรมนี ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยส่งข้อมูลเรื่องนี้ให้ประชาชนรับรู้ตลอดเวลา จัดระบบแนะแนวในโรงเรียน คอยบอกว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานเป็นอย่างไรอย่างละเอียด สร้างวัฒนธรรมเรื่องการเรียนตามความต้องการตลาดจริงๆ ขึ้น อเมริกานั้นถึงกับบอกอย่างละเอียดว่าเรียนจะจบสาขาเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ จบทำงานสิบปีได้เงินเท่าไหร่ เรียนจบแล้วเฉลี่ยต้องการว่างงานกี่เดือน ข้อมูลเหล่านี้จำได้ทำให้คนได้คิดว่า เลือกเรียนอะไรแล้วจะต้องยอมรับผลอะไรที่ตามมา

       อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผู้ปกครองไทยยังไม่รู้เลยว่า สายอาชีพบางสาขา เงินเดือนสูงกว่าปริญญาตรี มีการจองตัวเข้าทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เราแทบไม่มีบริการเรื่องนี้เลย ขณะที่ข้อมูลว่าเรียนที่ไหนตกงานเท่าไหร่ ก็ไม่มีเปิดเผย เพราะมหาวิทยาลัยกลัวถูกตีความเรื่องคุณภาพการสอน" คณะบดีเศรษฐศาสตร์ กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โพสต์ทูเดย์