สอบเข้ามหาวิทยาลัย

การสัมภาษณ์งานหรือรับเข้าเรียนบางแห่งมักทำการสืบประวัติจาก Digital footprint !!

UploadImage

โอลิเวอร์ อายุ18ปี เด็กหนุ่มหน้าตาดี การเรียนอยู่ในระดับท้อปของโรงเรียน โอลิเวอร์มีความใฝ่ฝันจะเป็นทนายความ เขาจึงเลือกสมัครในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเมื่อจบมัธยมปลาย

ทุกอย่างไม่มีที่ติ จดหมายแนะนำตัวจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ ผลการเรียนดีเยี่ยม เรียงความที่เขียนไปอย่างตั้งใจ

แต่สุดท้าย ในวันสอบสัมภาษณ์ อาจารย์ที่มาสอบ ได้แจ้งกับโอลิเวอร์ว่า "เราจะไม่รับเธอเข้าเรียน” โอลิเวอร์ไม่เข้าใจและตกใจ เมื่อถามหาเหตุผล ก็เพียงแต่ได้รับคำตอบสั้นๆว่า “เธอไม่เหมาะที่จะเรียนคณะของเรา”

สุดท้ายโอลิเวอร์ก็รู้ว่า ที่เขาถูกปฏิเสธ เนื่องจากอาจารย์ไปสืบประวัติของเขาในอินเทอร์เน็ต แค่พิมพ์ชื่อเขาใน Google เกือบทุกอย่างที่เขาเคยไปโพสต์และคอมเม้นต์ในเว็บไซต์หรือ เฟซบุ๊ก สามารถเรียกมาอ่านได้ อาจารย์จึงเห็นว่าเมื่อหลายปีก่อน โอลิเวอร์เคยโพสต์รูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ค โดยแสดงสัญลักษณ์การเคารพแบบนาซีเยอรมัน

อาจารย์พูดทำนองว่า “มันไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แม้ว่าเขาจะทำไปเพราะความเป็นเด็ก” “อีกหน่อยถ้าเขาต้องเป็นผู้พิพากษา มันคงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่คนเห็นเขาทำท่าแบบนี้”

โอลิเวอร์เสียใจมาก เพราะรูปเพียงรูปเดียวที่เปลี่ยนอนาคตของเขา

“What goes online stay online” หมายความว่าอะไรก็ตามที่เราส่งเข้าในโลกออนไลน์แล้ว มันก็จะอยู่อย่างนั้นไม่หายไปไหน

เปรียบเหมือนรอยเท้าที่เราเดินไปเรื่อยๆแล้วทิ้งเอาไว้ และที่สำคัญมันไม่ใช่รอยเท้าธรรมดาๆบนดินหรือทราย ไม่ได้ลบได้ง่ายๆ แต่เป็นรอยเท้าที่มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า Digital footprint

เมื่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ social media เข้าไปใช้งานในโปรแกรมเป้าหมาย เช่น เฟซบุ๊ค ก็จะมีบันทึกไว้ว่า เราเคยเข้าไปใช้งาน โพสต์ คอมเมนต์ ฯลฯ 
ซึ่งบันทึกและหลักฐานเหล่านี้จะมีผลเสมือนเป็นประวัติของคนผู้นั้น โดยเฉพาะเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่

เด็กๆที่ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังในเรื่องความเป็นส่วนตัว มีการโพสต์ข้อความหรือรูปที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีผลกระทบ เหมือนเป็นประวัติที่ไม่สามารถจะลบเลือนได้

ปัจจุบัน การสัมภาษณ์งาน หรือ รับเข้าเรียน หลายแห่ง มักทำการสืบประวัติจาก Digital footprint นี้

พ่อแม่ควรแนะนำลูกๆให้ดี เตรียมตัวตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะมีอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ต่างๆใช้ ด้วยความเป็นเด็ก บางทีก็ไม่ได้คิดให้ดีก่อนที่ส่ง หรือ โพสต์อะไรลงไป ทำไปด้วยความคึกคะนอง สนุกสนาน และรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แม้ว่าโซเชียลมีเดียที่นำมาซึ่งความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น แต่ก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงจนคิดไม่ถึง โดยเฉพาะกับเด็กๆและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

(เรื่องของโอลิเวอร์เป็นเรื่องที่หมอดัดแปลงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น โอลิเวอร์ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนบุคคลที่สามค่ะ) #หมอมินบานเย็น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหมอมินบานเย็น