สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รู้จักสาขาจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางผ่าน "ไฮสปีดเทรนพิษณุโลก-เชียงใหม่"

 
UploadImage

การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นการสนับสนุนให้การพัฒนาพื้นที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศและแต่ละจังหวัดตามแนวเส้นทางที่รัฐบาลหวังที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน อำเภอ และจังหวัด โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและจังหวัดต่างๆในโซนพื้นที่ภาคเหนือ

โครงการดังกล่าวนี้จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ต้องการให้เป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชนด้วยความเร็วราว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเร่งผลักดันเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้

สำหรับไฮสปีดเทรนช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่มีระยะทางประมาณ 296 กิโลเมตร แนวเส้นทางต่อจากช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก จำนวน 5 สถานี คือ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และสถานีเชียงใหม่ รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งมีหลายรูปแบบดังนี้คือ แนวเส้นทางระดับพื้นดิน(At Grade) 59 กิโลเมตร แนวยกระดับ(Viaduct) 110 กิโลเมตร รูปแบบทางลอดใต้สะพานรถไฟ(Short span Bridge) 102 กิโลเมตร และรูปแบบอุโมงค์ (Tunnel) 25 กิโลเมตร โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยซ่อมบำรุง 3 แห่งที่อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของสนข.พบว่ามีมูลค่าการลงทุนช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ประมาณ 2.2 แสน ล้านบาท จำแนกออกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 2.14 แสนล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 6,500 ล้านบาท โครงการมีความคุ้มค่าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) 32,693 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน(B/C Ratio) 1.21% มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 13.82%
 
UploadImage
 

โดยช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก(เปิดปีแรก) จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวมประมาณ 26,500 คน ประกอบด้วยสถานีบางซื่อ 9,700 คน ดอนเมือง 2,400 คน พระนครศรีอยุธยา 2,100 คน ลพบุรี 1,600 คน นครสวรรค์ 3,200 คน พิจิตร 2,000 คน พิษณุโลก 5,500 คน หากครบเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่แล้วสถานีบางซื่อ จำนวน 16,700 คน ดอนเมือง 4,200 คน พระนครศรีอยุธยา 3,400 คน ลพบุรี 1,800 คน นครสวรรค์ 3,800 คน พิจิตร 2,500 คน พิษณุโลก 4,400 คน สุโขทัย 2,100 คน ศรีสัชนาลัย 1,600 คน ลำปาง 2,800 คน ลำพูน 1,400 คน และเชียงใหม่ สำหรับในปีที่ 10 เพิ่มขึ้นเป็น 66,100 คน ปีที่ 20 เพิ่มเป็น 80,200 คน และปีที่ 30 เพิ่มเป็น 96,600 คน ทั้งนี้ได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่นี้ว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อปี นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี

ส่วนผลประโยชน์ทางตรงนั้นจะช่วยประหยัดพลังงานในการเดินทาง ช่วยลดมลพิษ ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลประโยชน์ทางอ้อมจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้า การลงทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การสร้างงานสร้างอาชีพ และยังช่วยชี้นำการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์

โดยที่ผ่านมาได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงความเห็นชอบผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เท่านั้นก็จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไปภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นนั่นเอง

(จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 – 21 กันยายน พ.ศ. 2559)




จากบทความข้างต้น เริ่มมองภาพรถไฟความเร็วสูงได้ชัดมากขึ้น และมองถึงโอกาสงานในอนาคตได้เต็มตามากยิ่งขึ้น จากเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมพบว่ามี 5 ประเภทงานยอดนิยมที่เปิดรับสมัครมากที่สุด  
( ที่เกี่ยวข้องกับงานสายรถไฟ) ดังนี้

1.งานขาย อาทิ ประสานงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานขายทางโทรศัพท์ ฯลฯ คิดเป็น 22.5%

2.งานวิศวกรรม อาทิ วิศวกรรมเครื่องกล-ยานยนต์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมโยธา-ก่อสร้าง ฯลฯ คิดเป็น 10%

3.งานจัดซื้อ-ธุรการ อาทิ ธุรการทั่วไป ประสานงานขาย จัดซื้อ ฯลฯ คิดเป็น 9%

4.งานบริการลูกค้า อาทิ ลูกค้าสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับ ฯลฯ คิดเป็น 8%

5.งานการตลาด อาทิ กิจกรรมการตลาด การพัฒนาธุรกิจ สื่อสารการตลาด ฯลฯ คิดเป็น 7%

พี่มองว่าอนาคตคงมีแนวโน้มอัตราการจ้างงานจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การขยายตัวของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดของประเทศไทย ล้วนช่วยให้เกิดการกระจายของงานจะทำให้เกิดการจ้างงานในหลายสาขาอาชีพเพิ่มขึ้นในอนาคต  และท้ายสุดนี้พี่มองว่าอาชีพที่เกี่ยวข้อง ‘งานยอดนิยม’ ตามแนวเส้นรถไฟฟ้าสายม่วง นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีงานด้านวิศวกรรมอื่นๆ ที่ดูน่าสนใจและสอดคล้องกับเทรนด์อาเซียน

คณะ/สาขา มหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เปิดสอน 

- สาขาจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

- สาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

- สาขาวิศวกรรมระบราง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย

- เรียนผ่านโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ สวทช.