สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สทศ. เตรียมเพิ่ม “ข้อสอบอัตนัย”

UploadImage

        จากที่แล้วๆ มาเรามักคุ้นชินกับข้อสอบส่วนมากที่เป็นปรนัย (ข้อสอบช้อยส์) ข้อสอบที่ออกโดย สทศ. ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อสอบ GAT PAT ข้อสอบ O –NAT หรืออื่นๆ ในความรับผิดชอบก็มักเป็นข้อสอบปรนัย แต่ล่าสุด สทศ. จะเตรียมออกข้อสอบอัตนัย (ข้อเขียน) ให้มากขึ้นกว่าเดิม
 
        เมื่อวันนี้ 3 ก.ย. รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ). กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ มีนโยบายรื้อระบบการประเมินผลของ สทศ. ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการสอบต่างๆ ที่จะให้เพิ่มข้อสอบแบบอัตนัยที่ให้อธิบายหรือเขียนคำตอบมากขึ้น และลดการสอบแบบปรนัยที่ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องลงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ สทศ. เพราะการเพิ่มข้อสอบแบบอัตนัยในการสอบต่างๆ นั้น สทศ. ได้กำหนดไว้ในแผนที่จะดำเนินการในอนาคตอยู่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย เพื่อวางระบบให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนข้อกังวลที่อาจมองว่าการตรวจข้อสอบแบบอัตนัยจะไม่ได้มาตรฐานนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้มีวิธีการตรวจสอบได้ โดยในการสรรหาผู้ที่จะมาตรวจข้อสอบ ต้องเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ และมีประสบการณ์ ซึ่งแม้การตรวจข้อสอบแบบอัตนัยจะใช้ผู้ตรวจหลายคน แต่หากนักเรียนตอบได้ตรงตามหลักวิชาการก็จะได้คะแนนเหมือนกันอยู่แล้ว
 
        “ในวันที่ 7 กันยายนนี้ นพ.ธีระเกียรติ จะมาตรวจเยี่ยม สทศ. และหารือในเรื่องดังกล่าวกับผู้บริหารของ สทศ. ซึ่งในการประชุมครั้งนี้คงจะได้ข้อสรุปว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยในเบื้องต้นผมเห็นด้วยว่าต้องเริ่มในระดับประถมศึกษา และนำร่องในบางวิชาก่อน เพราะการทดสอบระดับชาติต้องทำให้มีมาตรฐาน และยอมรับได้ โดยต้องค่อยๆ ปรับลดทีละน้อย” ผอ.สทศ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการเพิ่มข้อสอบอัตนัยต้องใช้ระยะเวลานานในการตรวจข้อสอบ ดังนั้น จึงเป็นห่วงว่าการเพิ่มข้อสอบอัตนัยในระดับ ม.6 อาจกระทบต่อการประกาศผลสอบ เพราะนักเรียนต้องนำผลไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา สทศ.จะมีเวลาตรวจข้อสอบ และประมวลผลเพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงเกรงว่าอาจจะไม่ทันกับปฏิทินการรับสมัครที่กำหนดไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ผมเชื่อว่าหากทุกฝ่ายเข้าใจ และร่วมมือกันก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร
 
        ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ และน่าจับตามองทีเดียวนะคะ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ และการที่ สทศ. ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอัตราส่วนและระดับชั้นที่จะนำไปใช้ ถือว่ามาถูกทางทีเดียว พอให้เราได้ทำใจและค่อยๆ ปรับตัวกันไปนะคะ



ที่มา : เดลินิวส์