สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เยาวชนไทยควรปรับตัวอย่างไร กับ Thailand 4.0

ในยุค Thailand 4.0 เยาวชนไทยควรปรับตัวอย่างไร?


สำหรับคำถามที่ว่า ในยุค Thailand 4.0 เยาวชนไทยควรปรับตัวอย่างไร? ตัวน้องๆ เยาวชนเอง ในแง่ของเทคโนโลยี อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก เพราะเด็กส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลาและเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เยาวชนต้องเพิ่มเติมคือ ทักษะในการแสวงหาความรู้อย่างถูกวิธี และนำมาปรับใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนในยุค 4.0 ได้แก่

1. การใช้อินเทอร์เน็ต
จะต้องสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการค้นหาความรู้ให้เป็น และเกิดประโยชน์สูงสุด

2. ความคิดสร้างสรรค์
ต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบหรือต่อยอดจากตำราเรียน 

3. การปฏิสัมพันธ์กับสังคม
เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและทำงานร่วมกันได้ ปัจจัยดังกล่าวจะสามารถสร้างและพัฒนาคน ให้รู้จักค้นหาความรู้ต่างๆ มาปะติดปะต่อและประยุกต์เข้ากับงานที่ทำได้จริง

 

UploadImage

 
แพลตฟอร์มวิดีโอช่วยพัฒนาการศึกษา
สื่อการเรียนรู้ที่มีภาพเคลื่อนไหวประกอบเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างวิดีโอ ยังคงเป็นแหล่งหาความรู้ที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ว่า มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่นักวิชาการที่จะเข้ามาทำสื่อส่วนนี้ แต่บรรดาครีเอเตอร์หน้าใหม่ ผู้ที่มีใจรักในศาสตร์นั้นๆ ก็เปิดช่องของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอ YouTube เพื่อเข้าถึงและให้ความรู้กับผู้ชมได้อีกด้วย

 
UploadImage
 
ดร.สมิตา หมวดทอง อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ และเจ้าของช่อง YouTube : Nuienglish
 
รายการ Podcast ไม่มีภาพ แต่เข้าใจได้ลึกและเป็นกันเอง
Podcast ช่องทางการฟังเรื่องราวต่างๆ ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านตา หรือได้ลองใช้ กำลังจะเป็นเทรนด์ที่กลับมาอีกครั้งในปีนี้ ซึ่ง Podcast ก็คล้ายกับการจัดรายการวิทยุ สามารถฟังได้ทางออนไลน์ และฟังย้อนหลังได้ โดยจะเน้นเป็นการพูดคุยในเรื่องต่างๆ ที่แต่ละคนสนใจ โดยเมื่อก่อนก็จะเป็นช่องข่าว การศึกษา แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างสรรค์ให้มีความเข้าถึงง่ายและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น

การเรียนการสอนบนออนไลน์ เตรียมพร้อมแรงงานคุณภาพ
ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งตำราเรียนเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่จำเป็นต้องสอบเข้ามหาลัย ต้องมีการติว หรือเก็งข้อสอบกันอย่างขะมักเขม้น ทั้งนี้ มีเว็บไซต์การเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบที่เปรียบเสมือนโรงเรียนกวดวิชา เป็นช่องทางให้นักเรียนสามารถติววิชาได้ด้วยตนเอง เข้าถึงได้ตลอดเวลา รวมถึงนักเรียนต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
 
 
UploadImage
การเรียนผ่าน VR ของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

เรียนด้วยประสบการณ์เสมือนจริง ผ่าน VR
เทคโนโลยีที่ตื่นตาตื่นใจอย่าง Virtual Reality (VR) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังเข้ามามีบทบาทกับทางภาคการศึกษา ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ทางด้านการมองเห็น ในรูปแบบเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นเกม เพื่อการศึกษาผ่าน VR หรือสื่อการเรียนการสอน ที่จะช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ มาผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบภาพเสมือนให้มากยิ่งขึ้น

ฐิติศักดิ์ ตรีรัตน์ นักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เจ้าของผลงานแอพพลิเคชั่นความเป็นจริงเสมือน เพื่อสำรวจระบบสุริยะ Exploring The Solar System VR กล่าวว่า เทคโนโลยี VR สามารถสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง อย่างแอพฯ ที่ได้พัฒนานี้จะเป็นการจำลองระบบสุริยะในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งใช้งานได้เพียงแค่โหลดแอพฯ และทำงานร่วมกันกับ Google Cardboard

“หลายๆ อย่างเราไม่สามารถไปสัมผัสได้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจัยบางอย่าง เทคโนโลยีตรงนี้ก็เข้ามาช่วยส่งเสริมได้ และโดยเฉพาะการศึกษาเอง เราเรียนกันมาแต่ในตำรา มีภาพที่ไม่ค่อยชัดอยู่ในหนังสือ บางทีก็เป็นขาว-ดำ มันไม่ได้เกิดความมีส่วนร่วม หรือดึงดูดให้สนใจ ซึ่งตรงนี้ VR ตอบโจทย์มาก และเชื่อว่าในอนาคตจะมีสื่อเพื่อการเรียนรู้ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกแน่นอน”
 
UploadImage
ฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้สามมิติเสมือนจริง VR เพื่อประกอบการเรียนการสอนในหลากหลายสาขาวิชา อาทิ วิศวกรรมโยธา เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และเข้าใจถึงโครงสร้างอาคาร ที่มีมิติหลากหลาย ทำให้ผู้เรียนสามารถสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงจากมุมมองที่อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญสัมผัส ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจตรงกัน ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของโครงสร้างอาคารได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสามมิติเสมือนจริง (VR) จากสถานที่และสภาพแวดล้อมจริงแบบออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน ลดอุปสรรคทางด้านการเดินทาง ระยะทางและเวลา

เห็นได้ว่า ช่องทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีในตอนนี้มีครอบคลุม และเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้การพัฒนาการศึกษาเข้าสู่ยุค Education 4.0 ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่พื้นฐานสำคัญที่ต้องปลูกฝังในขั้นเริ่มต้น คือ เรื่องของความใฝ่รู้ด้วยตัวเอง การเลือกเข้าถึงสื่อที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมทั้งการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.digitalagemag.com