สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เมื่อประเพณีสาดน้ำ ไม่ได้มีที่ไทยแห่งเดียว แล้ว สงกรานต์ มีที่ไหนในโลกบ้าง?

UploadImage

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ในโลกนี้ไม่ได้มีแค่เมืองไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีประเพณีสาดน้ำตอนรับปีใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า "ประเพณีสงกรานต์" เพราะอันที่จริงแล้ว ประเพณีที่เราเรียกว่า “สงกรานต์” นี้เป็น วัฒนธรรมร่วมในกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์ ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาทิ ลาว เขมร มอญ พม่า รวมไปถึงลังกา และสิบสองปันนาในประเทศจีนด้วย วันนี้เราจะมารวบรวมให้เห็นถึงความเหมือน ความต่างของแต่ละที่กัน ซึ่งจะมีต้นกำเนินของประเพณีสงกรานต์ ไปจนถึงเทศกาลสาดน้ำที่คล้ายๆ กัน แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสงกรานต์ในอุษาคเนย์ก็ตาม


होली (ประเพณีโฮลิ ประเทศอินเดีย)

UploadImage
ภาพจาก : www.festivalsherpa.com
 
สำหรับประเพณีสงกรานต์ของอินเดีย ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ไทย และสงกรานต์ในแถบอุษาคเนย์นั้น เป็นสงกรานต์ที่ใช้การสาดสี ไม่ใช่การสาดน้ำแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยประเพณีนี้ที่อินเดียมีชื่อเรียกว่า “โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา” ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ เดือนมีนาคม) สีที่ใช้เป็นสีที่ได้มาจากพืชพรรณและสมุนไพรตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีคราม ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย คล้ายกับการใช้ธรรมชาติบำบัด เพราะว่าในช่วงที่มีประเพณีโฮลิเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ที่อาจทำให้ไม่สบายได้ง่าย ประเพณีโฮลิในอินเดีย เชื่อกันว่ามีมาอย่างยาวนานมากแล้ว จนกระทั่งความเชื่อนี้เข้ามาเผยแพร่ในแถบอุษาคเนย์ ก็ถูกเปลี่ยนจากการสาดสีเป็นการสาดน้ำแทน เนื่องจากในช่วงเดือนห้าเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากที่สุดของปี


สงกรานต์ประเทศไทย

UploadImage
ภาพจาก : www.chillpainai.com
 
สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อไป และในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยเองก็มีความแตกต่างกันออกไปด้วย สงกรานต์ในประเทศไทยถือเป็นเทศกาลสาดน้ำที่ประสบความสำเร็จที่สุดด้านการท่องเที่ยว ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์ในประเทศหลายแสนคน สร้างรายได้ในกิจการท่องเที่ยว และโรงแรมอย่างมหาสาร
 

ສົງການ (สงกรานต์ลาว)

UploadImage
ภาพจาก : www.louangprabang.net
 
จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) โดยส่วนใหญ่จะจัดระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี แบ่งการจัดงานหลักๆ ออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ถือเป็นวันแห่งครอบครัว เพราะญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่งนางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวอีกด้วย สำหรับประเพณีสงกรานต์ลาวอันโด่งดังนั้นก็คืองาน"สงกรานต์หลวงพะบาง"
 

သင်္ကြန် (สงกรานต์พม่า)

UploadImage
ภาพจาก : www.sunthit.com
 
จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย แต่เป็นเดือน 1 ของพม่า ที่เรียกว่า “เดือนดะกู” (ช่วงมีนาคม-เมษายน) ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ในภาษาพม่า สงกรานต์มีชื่อเรียกว่า เหย่บะแวด่อ (คำว่า เหย่ แปลว่า "พิธีน้ำ" ส่วน บะแวด่อ แปลว่า “เทศกาล”) ปัจจุบัน รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี โดยจะมีการเล่นสาดน้ำตลอดทั้ง 5 วัน นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นช่วงมงคล จึงนิยมเข้าวัด รักษาศีล สรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส และสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชายและจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว
 

សង្រ្កាន្ត (สงกรานต์กัมพูชา)

UploadImage
ภาพจาก : news.sabay.com.kh
 
ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเช่นกัน โดยจะตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย เรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน เทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะมีกิจกรรมคล้ายๆ กับไทย คือ มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน


泼水节 (สงกรานต์สิบสองปันนา ประเทศจีน)

UploadImage
ภาพจาก : goldenemperor.com
 
สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใจ้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล “พัวสุ่ยเจี๋ย” โดยจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน กิจกรรมหลักๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ การแข่งขันเรือมังกร อันเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ มีการร้องรำทำเพลงต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกันในเหล่าชาวเมือง รวมถึงผู้ที่ผ่านไปผ่านมาด้วย



Wet Monday (สงกรานต์หลังวันอีสเตอร์)

UploadImage
ภาพจาก : www.dailymail.co.uk
 
นอกจากงานสงกรานต์จะจัดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีประเทศในแถบยุโรป ที่มีประเพณีสาดน้ำคล้ายๆ กับในบ้านเราเช่นกัน ประเพณีมีชื่อเรียกว่า “Wet Monday” เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นในแถบยุโรปกลาง โดยเฉพาะในโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยจะใช้น้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง เดิมนั้นประเพณี Wet Monday จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิง โดยผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้านจะถูกรุมสาดน้ำจนเปียกปอนมากที่สุด
 

สงกรานต์ใน LA

UploadImage
ภาพจาก : fanthai.com
 
สำหรับที่นครลอสแอนเจลิส หรือ LA ซึ่งมีคนไทยไปอยู่อาศัย มากที่สุดในสหรัฐฯ ก็มีการจัดเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน และจัดอย่างใหญ่โตมาก มีขบวนแห่ยาวเหยียด โดยปิดถนนฮอลลีวูดถึง 3 กิโลเมตร เพื่องานนี้ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยียนนับแสนคน ว่ากันว่างานฉลองสงกรานต์ในลอสแอนเจลิส เป็นมหกรรมใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของงานใหญ่ของ LA ที่นักท่องเที่ยว สหรัฐฯ ให้ความสนใจสูงสุดในแต่ละปี
 


ข้อมูลอ้างอิง
www.thairath.co.th
www.manager.co.th
th.wikipedia.org
www.thansettakij.com