สอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการศึกษา | ที่นักเรียน นักศึกษาควรยึดไว้ ไม่ให้ย่อท้อกับการเรียน




ขออัญเชิญ พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านเคยทรงพระราชดำรัสไว้ในงานเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ อาทิ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกๆ พระบรมราโชวาทล้วนเป็นถ้อยคำที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ สั่งสอน ให้ทุกๆ ได้รู้จักหน้าที่ของตนเอง เผื่อใครกำลังท้อแท้เกี่ยวกับเรื่องเรียน มาอ่านไว้เป็นข้อคิด เตือนสติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิตกันได้
 



“...การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยคือการศึกษาค้นคว้า เพื่อสร้างเสริมและสะสมความรู้ ความจัดเจน ในด้านวิชาการอย่างสูง และด้านการใช้ความคิดวิจารณญาณตามเหตุผลหลักวิชาความถูกต้อง ผู้มีปัญญาซึ่งได้ผ่านการศึกษาระดับนี้ จัดว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ผู้จะเป็นกำลังสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงทุกด้านของประเทศอย่างสำคัญต่อไป เหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกิดขึ้น ที่จะต้องนำความรู้ ความคิด และความสามารถจัดเจนของตนออกปฏิบัติงาน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมและบ้านเมือง...”
 
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
วันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓
 



“...การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรก คือการศึกษาทางแนวลึก อันได้แก่การฝึกฝนค้นคว้าวิชาเฉพาะของแต่ละคน ให้เชี่ยวชาญชำนาญแตกฉานลึกซึ้ง และพัฒนาก้าวหน้าพร้อมกันนั้น ในฐานะนักปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เป็นปรกติ ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาทางแนวกว้างควบคู่กันไปด้วย การศึกษาตามแนวกว้างนี้ หมายถึง การศึกษาให้รู้ให้ทราบ ถึงวิทยาการสาขาอื่นๆ ตลอดจน ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสภาวะและวิวัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมในทุกแง่มุม เพื่อช่วยให้มองเห็น ให้เข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจนถูกถ้วน และสามารถนำวิชาการด้านของตน ประสานเข้ากับวิชาด้านอื่นๆ ได้โดยสอดคล้องถูกต้อง และเหมาะสม...”
 
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓
 


“...การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด ความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะให้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณา ศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจ ตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังมิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”
 
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

 


“...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”
 
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล
วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔
 


“...การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังบรรยายสั่งสอนของครูบาอาจารย์ การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟัง ของแต่ละคน หมายความว่าดูแล้วฟังแล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้วและเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด...”
 
ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
วันจันทร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๑
 
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th