สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผลสำรวจวันวาเลนไทน์ วัยรุ่นผูกความสุขตัวเองไว้กับแฟน มีแฟนแล้วไม่เหงา รู้สึกเติมเต็ม

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  เปิดเผยผลสำรวจความสุขและทัศนคติวัยรุ่นต่อวันวาเลนไทน์ ปี 2561 พบว่า ในด้านของความสุข วัยรุ่น 2 ใน 3 มองว่าชีวิตตนเองมีความสุข มากกว่า 70% รู้สึกเป็นสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น และมั่นใจว่าชุมชนที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัย

การสำรวจดังกล่าวจัดทำในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน อายุ 11-19 ปี จำนวน 2,100 คน จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งยังพบด้วยว่า วัยรุ่นเกือบครึ่งไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่มีความภูมิใจในตนเอง และ รู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดย 18.64% รู้สึกว่าการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวทำให้มีความสุข


นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ พบว่า 39.03% มองว่า วาเลนไทน์ เป็นวันแห่งความรักที่คนรักแสดงความรักให้กัน ในขณะที่ 32.89% ไม่ได้ให้ความสนใจ และ 11.78% มองว่า เป็นวันที่ผู้ใหญ่ชอบมาเตือนเรื่องความรักจนเกินเหตุ ทั้งนี้ วัยรุ่น 41.50% เคยมีแฟนแล้ว และในจำนวนนี้ 95.74% เคยมีแฟนมาแล้วอย่างน้อย 1-5 คน และมีมากที่สุด 20 คน ส่วนช่วงอายุที่น้อยสุดที่มีแฟนครั้งแรก คือ 8 ขวบ และอายุมากที่สุดอายุ 17 ปี

สำหรับความคิดเห็นในส่วนของเหตุผลที่อยากมีแฟน ครึ่งหนึ่ง ผูกความสุขของตนเองไว้กับการมีแฟน มองว่า มีแฟนแล้วจะไม่เหงา รู้สึกเติมเต็ม และเมื่อไม่สบายใจ 51.30% จะใช้วิธีอยู่เงียบๆ คนเดียว พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รองลงมา 43.45% เลือกระบายความรู้สึก โดยเฉพาะกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่

" มีความน่าเป็นห่วงว่า วิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิตวัยรุ่นที่นำความสุขและคุณค่าของตนเองไปผูกติดกับผู้อื่น เมื่อเกิดปัญหาความรัก จะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า หรือปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมตามมาได้ " นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว


5 เรื่องที่วัยรุ่นปรึกษาสายด่วนสุขภาพ

แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวโน้มมีจำนวนวัยรุ่นที่โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และเดินเข้ามารับการปรึกษาคลินิกจิตเวชวัยรุ่นมากขึ้นชัดเจน โดย เรื่องที่ปรึกษา 5 อันดับแรก คือ ปัญหาความเครียด ความรัก ปัญหาเพศ สุขภาพจิต และปัญหาครอบครัว ซึ่งสะท้อนว่าสังคมควรเร่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิตวัยรุ่นมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมการมองเห็นคุณค่าของตนเอง การคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการอารมณ์และความเครียด ตลอดจนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันหลายปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบันได้

ขณะที่ ผู้ปกครองและครูจึงจำเป็นต้องใส่ใจ ให้เวลา และเป็นที่ปรึกษาให้กับวัยรุ่นหรือแนะนำให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโปรแกรมการเสริมสร้างทักษะชีวิตวัยรุ่น ซึ่งสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถขอรับการสนับสนุนสื่อ ได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โทร. 02-248-8988


ผลสำรวจ วธ.-สวนดุสิตโพล บอก 58.61% ให้ความสำคัญกับวาเลนไทน์เหมือนทุกปี

กระทรวงวัฒนธรรม และสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ต่อ 'วันแห่งความรัก' หรือ 'วันวาเลนไทน์' จากกลุ่มตัวอย่าง 2,428 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับวันแห่งความรัก (วาเลนไทน์) ในปีนี้ 58.61% พอๆ กับทุกปีที่ผ่านมา รองลงมา 19.65% ไม่เคยให้ความสำคัญเลย 12.46% ให้ความสำคัญมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และ 9.28% ให้ความสำคัญน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเยาวชนและประชาชนว่า บุคคลที่เด็ก เยาวชนและประชาชนส่วนใหญ่ อยากมอบความรักหรือส่งความรู้สึกที่ดีให้ในวันวาเลนไทน์มากที่สุด พบว่า 66.20% คือ พ่อแม่/ผู้ปกครอง รองลงมา 62.16% คือ คนรัก/คู่ชีวิต 28.98% คือเพื่อน  24.88% คือ ครูอาจารย์/ผู้มีพระคุณ และ 15.22% บุตร/หลาน/ญาติ เป็นต้น 


สิ่งที่อยากมอบให้แฟน คนรัก ครอบครัว ในวันวาเลนไทน์
73.02% บอกรักด้วยคำพูด
71.48% ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน
64.25% ให้ดอกกุหลาบ
58.11% ไปเที่ยวด้วยกัน
46.53% มอบสิ่งของแทนใจ (สร้อย แหวน เงิน ทอง)
45.72% บอกรักผ่านสื่อโซเซียล
33.21% ให้ช็อคโกแลต 


รูปแบบความรักอย่างสร้างสรรค์ ในความคิดของเยาวชนและประชาชน
อันดับ 1   65.98%   คือการให้เกียรติกัน 
อันดับ 2   51.36%   ชวนทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน (ชวนกันเรียน ทำบุญ ช่วยเหลือสังคม เป็นจิตอาสา)
อันดับ 3   44.84%   คบเป็นแฟนกันอยู่ในสายตาและการรับรู้ของผู้ใหญ่ 
อันดับ 4   37.85%   ใช้เวลาศึกษาดูใจกันนานๆ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม 


วิธีการและคำพูดปฏิเสธ หากแฟนหรือคนรักขอมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ไม่พร้อม
อันดับ 1   ปฏิเสธไปตรงๆ ว่า ยังไม่พร้อม/ยังไม่ถึงเวลา 
อันดับ 2   พูดคุยดีๆ มีเหตุมีผล 
อันดับ 3   บอกให้รอก่อนได้ไหม มันไม่ดี ไม่เหมาะสม 
อันดับ 4   ชวนทำกิจกรรมอย่างอื่น และไม่อยู่ในที่ลับตา 2 ต่อ 2 
อันดับ 5   ควรให้เกียรติกัน เห็นแก่พ่อแม่ ไม่อยากให้ท่านเสียใจ 
อันดับ 6   ควรรอให้เราแต่งงานกันก่อน 
อันดับ 7   ถ้าห้ามไม่ได้ควรป้องกัน 


ที่มา : www.voicetv.co.th