สอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 โปรแกรมการเรียนยุคใหม่ รับเทรนด์โลก มุ่งเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยี ไม่ต้องกลัวหุ่นยนต์แย่งงาน

     ช่วงนี้น้องๆ ม.6 ทั่วประเทศ น่าจะกำลังยุ่งอยู่กับการสมัครคัดเลือก เข้าเรียนต่อในคณะและมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน แต่การเลือกเรียนต่อในยุคนี้มีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง นอกจากเลือกเรียนตอบโจทย์ความชื่นชอบของตัวเองแล้ว ยังควรเลือกให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทรนด์เทคโนโลยี รวมไปถึงแนวทางพัฒนาประเทศด้วย เช่นเดียวกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้เร่งปรับปรุงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน ให้ทันสมัยสอดรับความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ โดยหนึ่งในภารกิจพลิกโฉมหลักสูตรการศึกษาเข้าสู่ไทยแลนด์ Education 4.0 คือ การประกาศนโยบายก้าวสู่ “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” เต็มรูปแบบ ซึ่งไม่เพียงแค่ดำเนินการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง 100Gbps พร้อมเครือข่าย Wi-Fi 3,000 จุดทั่วสถาบันเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับการเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อสร้างบัณฑิตและบุคลากร รองรับตลาดแรงงานในยุคไฮเทคโนโลยี ประกอบด้วย



     1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ (Bachelor of Science Program in Data Science and Business Analytics – DSBA) : ถือเป็นสายงานที่มาแรงแซงโค้งและเป็นที่ต้องการของ ตลาดแรงงานทั่วโลก เพราะในยุคที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตคนเรา การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล ที่ไหลผ่านโครงข่ายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง น้องๆ ที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้จะได้ศึกษาเกี่ยวกับ ศาสตร์ด้านวิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ ทำให้สามารถรวมรวบข้อมูลจากฐานข้อมูล และคลังข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ซึ่งมีความซับซ้อนและมหาศาล นำมาจัดเตรียมและประมวลผลด้วยเครื่องมือซึ่งใช้กลไกของอัลกอริทึมขั้นสูง เมื่อจบการศึกษาจึงมีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในด้านวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ สามารถประกอบอาชีพได้มากมาย อาทิ นักวิทยาการข้อมูล (Data Scientist), นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst), สถาปนิกด้านข้อมูล (Data Architect), นักวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analyst), นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst), ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยะทางธุรกิจ (BI Specialist), เป็นต้น

     2. หลักสูตรวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering) : เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ทันต่อยุคสมัยยุคบิ๊กดาต้า และการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์น้องๆ รุ่นใหม่ ที่ต้องการจบออกไปเป็นสตาร์ทอัพหรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เพราะตลอดการเรียน 4 ปี จะได้รับการปลูกฝังการสร้างนวัตกรรม และเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs and technical leadership) ในด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการสัมผัสแนวคิดโปรแกรมและระบบดิจิตอล พร้อมสัมผัสประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติ และการพัฒนาเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เช่น การประยุกต์ออกแบบโซลูชั่นด้วยเทคนิคต่างๆ อาทิ ระบบไซเบอร์ทางกายภาพและโครงสร้างคอมพิวเตอร์ ต่อยอดความรู้สู่เทคโนโลยีคลาวด์, Mobile computing, Cybersecurity, Big data analytics และ Internet of Things ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิตอลในอนาคต


     3. หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์(AI) สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) : เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันหุ่นยนต์และ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และแทนที่แรงงานคนเราหลากหลายสายงาน และยังแทรกซึมอยู่ตามเทคโนโลยีที่คนเราใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ระหว่าง สจล. กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเปิดหลักสูตรร่วมกันโดยผู้ที่เรียนจะได้ปริญญาบัตรจากทั้งสองสถาบัน จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการอุดมศึกษาไทย ความน่าสนใจไม่เพียงอยู่ที่การจับมือร่วมกันระหว่างสองสถาบันการศึกษาชั้นนำ ระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วย รับรองได้ว่าใครที่เรียนจบหลักสูตรนี้ ไม่ต้องงานแน่นอน



     4. หลักสูตร “แพทยศาสตรบัณฑิต” (หลักสูตรนานาชาติ) : ด้วยความเชี่ยวชาญและเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับต้นของประเทศ ทำให้ความน่าสนใจของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ อยู่ที่การสร้างแพทย์ที่เก่งทั้งการตรวจรักษา ควบคู่ไปกับทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นแพทย์ที่สามารถศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้อีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวหลักสูตรพัฒนาขึ้น ตามวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. มีความรู้ความสามารถสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามมาตรฐานของประเทศไทยและสากล 2. มีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะเรียนรู้นวัตกรรม 3. เป็นนักวิจัยที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และสร้างผลงานวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4. มีความเป็นสากลและตระหนักในการเป็นพลเมืองของโลก ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผลงานและการปฏิบัติ โดยจัดให้มีประสบการณ์ทางคลินิกตั้งแต่ในระยะแรกและตลอดหลักสูตร โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลในเครือข่ายของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร



     5. หลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และ EV : เทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์แบบเก่าเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดปัญหามลพิษ ใครที่มีความฝันอยากผลิตรถยต์ไฟฟ้า สำหรับเป็นตัวเลือกให้คนไทยได้ใช้งานหลักสูตรนี้ตอบโจทย์มากเลยทีเดียว โดยล่าสุด สจล. ได้เปิดศูนย์วิจัยอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และ EV รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนขึ้น เพื่อใช้ทำการเรียนการสอนและศึกษาวิจัย ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การทดสอบสำหรับแบตเตอรี และระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ควบคู่ไปกับการวิจัยพัฒนาระบบ Smart Grid System ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

     น้องๆ ม.6 ที่สนใจหลักสูตรสุดว้าว ทั้ง 5 อย่ารอช้า คลิกเข้าไปที่ดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.reg.kmitl.ac.th ส่วนใครต้องการรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์  02-329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th