สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เกี่ยวกันยังไง ? นักสังคมสงเคราะห์ VS วิศวกรทางสังคม หาคำตอบได้ที่บทความนี้เลย


     เมื่อตอนที่แล้วพี่ได้อธิบายความหมายเบื้องต้นจากภาพจำและความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “สังคมสงเคราะห์” จากความเข้าใจที่สะท้อนจากมุมมองและความคิดของผู้คนที่มองว่า “นักสังคมสงเคราะห์” เปรียบเสมือน “ผู้ให้” และ “ผู้ให้ความช่วยเหลือ” ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกใจของผู้ใช้บริการหรือไม่ก็ตาม และในตอนท้ายของตอนที่แล้ว พี่ได้นิยามว่า “เป็นวิศวกรทางสังคม” หรือ Social Engineering ซึ่งในตอนนี้จะเป็นการขยายความเพิ่มเติมจากตอนที่แล้ว เผื่อคุณผู้อ่านบางคนที่ติดตามชมอย่างละคร “เส้นสนกลรัก” กำลังสนใจกับบทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์​
 

                 
     จากภาพแรกนี้ พี่อยากให้คุณผู้อ่านลองตั้งคำถามในใจตนเองว่า สิ่งที่เรานิยามและกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นสมดุลและเป็นไปตามโครงสร้างหน้าที่หรือไม่ หลายคนอาจจะบอกว่า “แน่นอนอยู่แล้ว…เพราะอย่างไรรัฐต้องเข้ามาช่วย” แต่บางคนอาจจะตอบว่า “ไหนความช่วยเหลือ…ไม่เห็นเลย” จาก 2 คำตอบนี้ผู้อ่านอาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งในเรื่องนโยบาย สภาพสังคม และรวมถึง เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่นับวันจะมีความเปลี่ยนแปลงและผันผวนตามรูปแบบเศรษฐกิจโลกและนโยบายทางการเมือง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากภาครัฐหรือภาคเอกชนย่อมมีต้นทุนที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม การคาดหวังและความต้องการแม้จะมีมากขึ้นตามประชากรที่เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกันเพราะบางอย่าง จะมีเงื่อนไขอื่นเข้ามาประกอบซึ่งทุกคนต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่มองว่า “เล็กน้อย” แต่ทุกการตัดสินใจในการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็น เงินสงเคราะห์ การติดต่อประสานงาน รวมถึงการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้ใช้บริการนั้น เป็นหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของนักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องตัดสินใจและมองถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เหมาะสมไม่ใช่การทำงานเพราะเพียงแค่คำว่า “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” ของตนเอง
 


     พี่เชื่อว่าหลายคนคงกำลังตั้งคำถามในใจอยู่ว่า “นักสังคมสงเคราะห์กับคำว่าวิศวกรทางสังคมเกี่ยวข้องอย่างไร” ในตอนต้นของบทความนี้ พี่ได้อธิบายไปในเบื้องต้นแล้วว่า ในการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครและมีความต้องการเกี่ยวกับสิ่งใด นักสังคมสงเคราะห์จะต้องประเมินและวางแผนเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่างๆที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้นั้นให้อย่างน้อยสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ แม้ว่าความช่วยเหลือบางอย่างอาจไม่เป็นที่ถูกใจของผู้คนบางกลุ่ม แต่อย่าลืมว่า ด้วยความเป็นวิชาชีพ จรรยาบรรณและประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่เข้ามาติดต่อเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่การรับเรื่อง การช่วยเหลือ และ สิ้นสุดกระบวนการ เฉกเช่นคำว่า  “จ่าย-แจก-จบ” แต่แท้จริงแล้วการทำงานกับมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนไม่แพ้กับการทำงานในอาชีพอื่น เพราะถ้าสิ่งที่เราช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้วไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงได้ แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือตามสิทธิ์ แต่กลับกลายเป็นว่า เป็นการสร้างปัญหาและอุปสรรคแก่ผู้นั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร อย่างไรก็ดี ต่อให้ความต้องการของมนุษย์จะมีมากเพียงใด แต่ทรัพยากรที่มีอยู่นั้น ไม่ได้มีมากมายที่จะสามารถแบ่งให้ทุกคนได้อย่างเสมอภาค ดังนั้นนักสังคมสงเคราะห์จำเป็นที่จะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของความช่วยเหลือเหล่านั้น แล้วออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมภายใต้ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมาย นโยบายของภาครัฐ รวมถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความสมดุลและประชาชนสามารถที่จะได้รับสิทธิ และ สวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


      ดังที่พี่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า หากเทียบกับการสร้างบ้านเพื่อให้มั่นคงและแข็งแรง ยังต้องมีผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ย่อมไม่ต่างอะไรกับการออกแบบคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมที่อย่างน้อย ผู้คนควรได้รับสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานที่ดีและเหมาะสมกับสภาพสังคม แม้ว่าความช่วยเหลือหรือสิทธิตามที่ได้รับนั้นจะเป็นที่พอใจของพวกเขาหรือไม่ แต่อย่างน้อย นักสังคมสงเคราะห์ได้ทำหน้าที่ “ออกแบบและสร้างคุณค่า” ในมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่พร้อมจะรับและพัฒนาตนเองเพื่อให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีและพี่เชื่อว่า สังคมของเราจะสามารถดำเนินอยู่ได้นั้น ไม่ได้มาจากอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หากเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ที่มีอวัยวะและระบบต่างๆของร่างกาย พี่มองว่านักสังคมสงเคราะห์เปรียบเสมือน “ผู้วางและขับเคลื่อนกลไกระบบ” ในที่นี้หมายถึง การออกแบบระบบการขับเคลื่อนและติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเห็นว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมและงานสังคมสงเคราะห์ที่เปลี่ยนไปนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบและกลไกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ดี แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่อย่างน้อยนักสังคมสงเคราะห์พร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง พร้อมที่จะเข้าใจ เรียนรู้ และเติบโตไปพร้อมกันเฉกเช่นกับมนุษย์ที่ย่อมล้มลงได้ แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะลุกขึ้นมาและก้าวต่อไปอย่างสง่างาม

พบกันใหม่ตอนหน้านะครับ … สวัสดีครับ
บทความโดย : ปพน จูน คิมูระ (พี่จูน) ผู้ก่อตั้งเพจ "สรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P’Jun"