สอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 เรื่องต้องรู้ก่อนยื่น Portfolio



น้องๆ น่าจะเห็นกันแล้วว่า TCAS รอบที่มีจำนวนรับเยอะที่สุด และมีจำนวนน้องๆ สอบติดมากที่สุด คือ TCAS รอบที่ 1 การรับแบบ Portfolio ฉะนั้นเรามาเตรียมตัวกันหน่อยดีกว่า กับ 5 เรื่องต้องรู้ก่อนยื่น Portfolio


 


 “เก่งที่สุด” อาจไม่ได้หมายถึง “เหมาะสมที่สุด”

การพิจารณารับเข้าในรอบ Portfolio นี้คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ความเก่ง หรือผลการเรียน เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการคัดเลือกในรอบนี้  คือ การค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของแต่ละแห่ง น้องๆ ต้องแสดงตัวตนที่ชัดเจนว่าต้องการเข้าเรียนในคณะ สาขานั้นจริงๆ รวมถึงความใฝ่ฝันในการประกอบอาชีพในอนาคต ที่ตรงกับองค์ความรู้ของสาขาที่สมัครเข้าคัดเลือก จึงแปลว่าก่อนอื่นน้องๆ จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราว่าชอบอะไร ต้องการอะไร แล้วค่อยไปคิดต่อว่าอยากจะเรียนอะไร และอยากประกอบอาชีพอะไร แล้วเลือกทาง เลือกกิจกรรมที่จะทำให้เป็นคนที่เหมาะสมที่สุด
 



4 เรื่องโดนใจ และ Port ที่ดีต้องมี

เลือกได้แล้วว่าจะเรียนอะไร ทำกิจกรรมที่ต้องทำไปแล้ว ก็ถึงเวลามาลุยกับการสร้าง Portfolio กันอย่างจริงจังบ้าง ซึ่งองค์ประกอบของการทำแฟ้มสะสมผลงานที่ดี จะช่วยให้น้องๆ มีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้น เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้คณะกรรมการ สามารถรู้จัก เข้าถึง และเข้าใจตัวตนของเราได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ได้หมายถึงแฟ้มที่ดูแพง หรือสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วย 4 เรื่องโดนใจ! ได้แก่
1. สาระสำคัญตรงตามข้อกำหนดของสาขาวิชา
2. มีรายละเอียดที่แสดงประวัติและผลงานเด่นๆ อย่างครบถ้วน
3. เรียบเรียงเก่ง กระชับเข้าใจง่าย ดูเป็นระบบ
4. มีความคิดสร้างสรรรค์ ช่วยให้น่าอ่าน น่าสนใจ และน่าประทับใจ
 



ใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เก็บให้หมดทุกรายละเอียด

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และรายละเอียดยิบย่อย ใน TCAS รอบ Portfolio ไม่ใช้เรื่องที่เราจะมองข้ามได้ บางทีมันอาจกาลยเป็นเรื่องที่จะใช้ในการตัดสินเลยก็ได้ นอกจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนแล้ว บางสาขา บางคณะ อาจมีรายละเอียดจุกจิกยิบย่อยที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ซึ่งถ้าน้องๆ คนไหน สามารถทำแฟ้มออกมาได้ตรงตามเงื่อนไขได้อย่างครบถ้วน ก็ยิ่งสะท้อนความตั้งใจและทำให้คณะกรรมการประทับใจในความพยายามของน้องๆ ได้

ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดว่า ให้ผู้สมัครบรรจงเขียนด้วยลายมือของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่มีอยู่จริง และไม่ควรมองข้าม
 




เลือกอย่างมี strategy คัดเนื้อๆ เน้นๆ

อย่างที่น้องๆ ทราบกันไปแล้วว่าปีนี้ ทปอ. ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้กำหนดจำนวน Portfolio ไว้ไม่เกิน 10 หน้า (ไม่รวมปก) ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดในรายละเอียดลงไปอีกก็ได้ ว่าแต่ละหน้าจะให้เป็นอะไร หรือบางมหาวิทยาลัยอาจไม่บังคับจำนวนหน้าก็ได้ แต่ที่เหมือนกันคือเรื่องหลักๆ ที่น้องๆ ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมคือ การคัดเลือกสุดยอดผลงาน เรียบเรียงประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา บอกสิ่งที่ตนเองถนัด แรงบันดาลใจ และความต้องการของตนเอง  “สิ่งสำคัญคือ การบอกให้คณะกรรมการเข้าใจ ว่าทำไมเราถึงอยากเรียนสาขา คณะ หรือสถาบันนี้มากที่สุด”
 




จะเรียนสายวิทย์-ศิลป์ ก็ต้องแสดง Passion ให้ชัดเจน

บุคลิกภาพของผู้เรียนสายวิทย์และสายศิลป์ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน สะท้อนตัวตนและธรรมชาติของหลักสูตรการเรียนในแต่ละสาขา แต่ละคณะ ดังนั้น การออกแบบแฟ้มสะสมผลงานของผู้เรียนแต่ละสาย ไม่ว่าจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ จะต้องสามารถบอกเล่าตัวตนของน้องๆ ให้ตรงกับบุคลิก ลักษณะของแต่ละกลุ่มวิชา รวมถึงแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตได้

เช่น หากต้องการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องมีเนื้อหาที่บอกเล่าความสนใจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ความรู้งานช่าง แนวคิดการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในทางธุรกิจ ในทางกลับกันหากน้องๆต้องการเรียนคณะอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ต้องมีการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับตัวตนของแต่ละคณะลงไป ให้รู้ว่าเราเหมาะกับการเรียนคณะนี้จริงๆ