สอบเข้ามหาวิทยาลัย

นี่มันสปอตไลต์ชัดๆ!! ผลงานเจาะข่าวน.ศ.หอการค้า “เด็กบวชเณรฤดูร้อน ถูกพระพี่เลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ”

UploadImage

       เข้าสู่ช่วงฤดูปิดภาคเรียนฤดูร้อน แน่นอนว่าเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองต่างพากันหากิจกรรมให้ลูกหลานเด็กและเยาวชน แทนอบายมุขต่างๆ และหนึ่งในกิจกรรมที่พ่อแม่นิยมส่งลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรม นั่นคือ “การบวชสามเณรฤดูร้อน” ที่่ผู้ปกครองต่างเลือกให้วัดเป็นแหล่งขัดเกลาเด็กๆ ให้ออกมาเป็นเด็กดี และใกล้ชิดพุทธศาสนา

       แต่ใช่ว่าการบวชสามเณรฤดูร้อนนี้จะปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เสมอไป เมื่อไม่นานมานี้ข่าวครึกโครมทั่วสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีที่สามเณรภาคฤดูร้อน ถูกพระพี่เลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ และมีคลิปอนาจาร ทั่วทั้งทวิตเตอร์

       จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานวัตกรรมสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดประเด็นเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ หอข่าว “ระวังภัยทางเพศ บวชเณรฤดูร้อน”

       ซึ่งประเด็นน่าสนใจจนสามารถคว้ารางวัล “ชมเชย” ข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น (พิราบน้อย) ประจำปี 2558 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมาครองไปได้

      ด้วยเพราะเป็น “ประเด็นข่าวมีความสดใหม่ ขยายเรื่องราวที่ได้จากโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นภัยแฝงเร้นในสังคมไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ประเด็นข่าวนี้น่าจะพัฒนาขึ้นได้อีกด้วยการเจาะลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องประสิทธิภาพการกำกับดูแลกันเองในวงการสงฆ์ ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม”

      ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็น “เตือนภัย” ให้สังคมในจุดที่ใครหลายคนไม่เคยนึกถึงเป็นอย่างมาก ก่อนที่ อ.ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำเอาบทความดังกล่าวมาโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Mana Treelayapewat เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนสังคมได้อย่างน่าสนใจ ว่า

 
 
UploadImage
 

      เตือนภัยบวชสามเณรฤดูร้อน เสี่ยงถูกพระพี่เลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ พบถึงขั้นตั้งกล้องแอบถ่าย ในห้องน้ำ ตะลึงพบภาพและคลิปอนาจาร พระ-เณร-เด็ก ว่อนทั่วทวิตเตอร์ “มูลนิธิพิทักษ์สิทธิ เด็ก” ยันมีการร้องเรียนจากเหยื่อกามหลายกรณี พระผู้ช่วยเจ้าคณะแนะคุมเข้มเจอจับสึกแน่ ไอซีทีย้ำโทษหนัก

      จากกรณีที่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ได้ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) แชร์ภาพ และคลิปอนาจารในลักษณะการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ทั้งการโชว์อวัยวะเพศเพื่อเรียกร้องให้มีเซ็กส์ถึง ขั้นร่วมเพศกัน โดยภาพที่สื่อออกมา มีทั้งกลุ่มคนที่สวมจีวรลักษณะคล้ายพระ รวมถึงภาพและคลิปการ ร่วมเพศกับบุคคลธรรมดาหรือแม้กระทั่งเด็กในชุดนักเรียนปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งข้อความเชิญชวนใต้ภาพดัง กล่าวสื่อถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เช่น “สุขสันต์วันเด็ก วันนี้เด็กมาถวายตัวถึงที่xxxxเลย”

    “ของเณรวัดxxxxอายุ 14 ขอบอกว่าเด็ด” และข้อความที่ส่อไปในทางอนาจารมากมาย นอกจากกลุ่มคนที่ สวมจีวรคล้ายพระแล้ว ยังมีการโพสต์เชิญชวนให้มีการติดต่อ หรือหาช่องทางในการพบหากัน ทั้งยังมีรูป อนาจารเด็กจำนวนมากในทวิตเตอร์

สามเณรเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

               ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” จึงได้สืบค้นข้อมูลจนพบว่า หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ไอดี “@tatar_xxxx” อ้างตนว่าอยู่วัดแถวป้อมปราบศัตรูพ่าย มีการโพสต์ข้อความ แชร์ภาพและคลิปอนาจารในลักษณะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง จนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งมีคลิปที่ตั้งกล้องแอบถ่ายเด็กชายลักษณะคล้ายกับเณรในห้องน้ำวัดขณะอาบน้ำ มาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์

              หลังจากการสืบค้นข้อมูลนี้ทำให้ผู้สื่อข่าวเกิดข้อสงสัยถึงเรื่องการบวชเป็นสามเณร โดยเฉพาะการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่มีเด็กมาบวช อายุประมาณ 7-12 ปี ว่าอาจเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่

              ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่สำรวจตามวัดที่มีการจัดโครงการบวชสามเณรในกรุงเทพมหานคร ทราบข้อมูลว่าตามวัดดังหลายแห่งในกทม.จะมีเด็กประมาณ 10-20 คนมาบวช และมีเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศขณะที่มาบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งมีทั้งกรณีพระพี่เลี้ยงชวนหลับนอน รวมถึงสามเณรรุ่นพี่ล่วงละเมิดทางเพศ

              สามเณรเอ (นามสมมติ) อายุ 13 ปี สามเณรวัดชื่อดังย่านเจริญกรุง ให้ข้อมูลว่าเคยมีพระพี่เลี้ยงมาเอาใจตนเป็นพิเศษ เช่น การเดินมาเกาะไหล่ โอบกอด ตนกลัวกับพฤติกรรมดังกล่าว แต่วิธีแก้คือเดินหนี

              สามเณรบี (นามสมมติ) สามเณรวัดชื่อดังย่านเจริญกรุง เปิดเผยว่า เคยมีพระพี่เลี้ยงมาคอยตามดูแลตนเป็นพิเศษ เช่น ซื้อขนม หรือของกิน และชวนหลับนอนอยู่สองสามครั้ง แต่เนื่องจากรู้ทันว่าพระพี่เลี้ยงต้องลวนลาม จึงเริ่มตีตัวออกห่าง ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงคือเวลาไปไหนก็จะมีเพื่อนไปด้วยตลอด

              สามเณรซี (นามสมมติ) อายุ 12 ปี สามเณรวัดใหญ่แห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว กล่าวว่า ไม่กังวลกับเรื่องพระพี่เลี้ยงต้องการลวนลามทางเพศ เพราะมองว่าการบวชเหมือนกับการเข้าค่ายในโรงเรียน ส่วนถ้าเจอพระเพศ ที่สาม วิธีแก้ปัญหา คือทำตัวให้ห่าง หรือบอกพระผู้ใหญ่

ผู้ปกครองแนะต้องระวังพระพี่เลี้ยง

             ขณะที่นางสาวสำเนียง รูปขาว (นามสมมติ) ผู้ปกครองของเด็กที่เคยไปบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนว่า ไม่ค่อยกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะได้เลือกวัดที่มีชื่อเสียง และยังสอบถามเพื่อนที่เคยให้ลูกหลานเข้าร่วมโครงการบวชเณรมาก่อนหน้านี้ จึงวางใจที่จะให้ลูกบวชสามเณรภาคฤดูร้อน

              “การบวชสามเณรเป็นสิ่งดี เป็นการให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นการศึกษาธรรมะ ส่วนด้านการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ คือการบอกเด็กว่าอย่าเข้าใกล้พระที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางลวนลามทางเพศ ให้รีบตีตัวออกห่าง และให้ระวังตัวเอง” นางสาวสำเนียงกล่าว

              ด้านนางกนกรดา ศรีไพบูลย์ หนึ่งในปกครองของเด็กที่เคยไปบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ให้ความคิดเห็นว่า ควรระวังตัวถ้าพระพี่เลี้ยงมีลักษณะตุ้งติ้ง แนะนำให้บอกพระผู้ใหญ่ และอย่าไปยุ่ง โดยส่วนตัวตนมองว่าไม่น่ากังวล เนื่องจากอยู่ที่เด็กจะรู้ผิดถูกหรือไม่

 
 
UploadImage
 

เอ็นจีโอยันมีร้องเรียนหลายกรณี

             ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและนักกฏหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก กล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สามเณรถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายกรณี แต่กรณีที่ชัดเจน เกิดจากพระพี่เลี้ยงและสามเณรที่โตกว่าล่วงละเมิดทางเพศสามเณรที่มาบวชภาคฤดูร้อน

             พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและนักกฏหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีการร้องเรียนเข้ามาว่า เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและพื้นที่ต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีที่พระพี่เลี้ยงทำการล่วงละเมิดทางเพศสามเณร ซึ่งไม่ใช่แค่การถูกเนื้อต้องตัวหรือเพียงแค่ใช้ปากกระทำอนาจารเท่านั้น แต่มีการใช้อวัยวะเพศสอดเข้าทางทวารหนักของสามเณรด้วย

             นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า มีวัดในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง เจ้าอาวาสละเมิดทางเพศต่อสามเณรจำนวนมาก กว่า 10 รายด้วยกัน สิ่งที่น่าตกใจคือ สามเณรเกือบทั้งหมดอยู่ในสถานการณ์ที่จำยอมต่อการละเมิดทางเพศมากกว่า 1 ครั้ง และสามเณรอีกจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ กับการที่ตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและนักกฏหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องมาตราการคุ้มครองเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า เมื่อมีการร้องเรียนมาที่มูลนิธิเกี่ยวกับการที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนอื่นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากพบว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศจริง ต้องดูอีกทีว่าเด็กคนนั้นถูกกระทำมากน้อยเพียงใด

           “แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก คือเรื่องของสภาพจิตใจ เรื่องของสุขภาพกาย และความปลอดภัยของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสิ่งแรกที่ควร จะทำคือ นำตัวเด็กไปตรวจสุขภาพกายและบำบัดในเรื่องสภาพจิตใจในทันที” นายณัฐวุฒิกล่าว

           นายณัฐวุฒิกล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ประหลาดใจคือ พอหลังจากเหตุการณ์ พบว่าผู้ปกครองครึ่งต่อครึ่ง เลือกที่จะไม่ปกป้องเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีความผิดต่อผู้เป็นพระ และที่มากกว่านั้นคือการมองว่าเด็กผู้ชายถูกละเมิดทางเพศ ไม่เสียหายเท่ากับเด็กผู้หญิงถูกละเมิดทั้งที่เมื่อเทียบจริงๆแล้วผลกระทบมันมีทั้งคู่

            พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและนักกฏหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก ได้กล่าวเสริมในเรื่องแนวทางป้องกันว่า ปัจจุบันมีการในแจ้งเบาะแสที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น และมี พ.ร.บ.การคุ้มครองเด็กปี พ.ศ.2546 มาตรา 29 ที่ระบุว่าด้วย ผู้ใดก็แล้วแต่ที่สงสัยว่าอาจจะมีการละเมิดหรือทำร้ายเด็ก คนเหล่านั้นมีสิทธิที่จะแจ้งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ที่มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพ โดยแจ้งมาที่สายด่วน 1300 หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แนะตรวจเข้มก่อนบวช ทำผิดจับสึก

         พระมหาอานนท์ ชยานฺนโท ผู้ช่วยเจ้าคณะจากวัดสามพระยาได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เด็กจะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนว่า การบวชส่วนใหญ่แล้วเพื่อการศึกษา ส่วนการที่พระ มีพฤติกรรมล่วงละเมิดเป็นสิ่งที่ผิดทางวินัย และทางโลก หากพบการกระทำความผิด จะต้องถูกจับสึก และต้องรับโทษตามกฎหมายในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

        “เรื่องแนวทางในการแก้ปัญหา คือ ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีอำนาจในการบวชอุปัชฌาย์พระ ควรตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะให้ผู้ใดบวช เพราะผลกระทบที่จะตามมาคือประชาชนอาจมองศาสนาในแง่ลบมากขึ้นทำให้มีการ บวชเณรลดลงตามไปด้วย” พระมหาอานนท์กล่าวทิ้งท้าย

         พระอาจารย์สุภกิจจานุรักษ์ รองเจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้าจุฬามณีเปิดเผยว่า การปกครองดูแลพระ หรือวัด เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม ดูแล และออกนโยบายให้กับพระ ส่วนเรื่องการดูแลสามเณร ให้เป็นหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงเป็นคนดูแล

          ด้านนางสาวสุพัตรา ปรีชื่น นักวิชาการศาสนาปฏิบัติและชำนาญการ กรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนาทำหน้าที่จัดหา ดูแลกิจกรรมการทำอุปัชฌาย์ การบวชสามเณรภาคฤดูร้อนและจัดสรรงบประมาณ ส่วนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุสงฆ์ ไม่อยู่ในหน้าที่ภารกิจของกรมการศาสนา ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับดูแลรับผิดชอบในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระก็คือ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนวิธีการเชิญชวนให้เยาวชนมาเข้าร่วมบวชสามเณรนั้น จะใช้วิธีการการแจกแผ่นพับและติดโปสเตอร์ประกาศโครงการบวชเณรไปทั่วประเทศซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ ในเรื่องนี้

          ด้านนางสาวณัฐนันท์ แสงฉิม นักวิชาการศาสนา สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระหรือเณร ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กว่า มีความผิดทางกฎหมาย

          ส่วนพระภิกษุมีความผิดตามพระวินัยบัญญัติ เรียกว่า อาบัติ คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุสามเณรในทันที ไม่สามารถกลับมาบวชได้ กรณีพระเป็นเพศที่สามและพบว่ามีพฤติกรรมเสียหาย จะต้องให้ลาสิขา ตนมองว่าขณะนี้มีการกวดขันมากขึ้น ทำให้เพศที่สามบวชยากกว่าแต่ก่อน

         นักวิชาการศาสนากล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องเชิญชวนให้เยาวชนมาบวชเณรว่า ชายไทยจะต้องบวชเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา หรือเพื่อศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ฝึกฝนสมาธิเจริญสติเพื่อแสวงหาทางออก ทางเลือกและการนำมาซึ่งแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นต้น โครงการเพื่อเชิญชวนให้เยาวชนเข้ามาบวช โดยกำหนดให้บวชได้ตั้งแต่มีอายุรู้เดียงสา (ประมาณ ๗ ขวบ) ขึ้นไป หรือที่เรียกว่า บวชสามเณรภาคฤดูร้อน บวชวัยเบญจเพส เป็นต้น

โทษแชร์ภาพลามกทั้งจำทั้งปรับ

        ด้านนายจรัญ เหลาทอง นักวิชาการคอมพิวเตอร์และปฎิบัติการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ไอซีที ) กล่าวถึงพฤติกรรมการแชร์ภาพอนาจารของกลุ่มคนที่แต่งกายลักษณะคล้ายพระสงฆ์ตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ผิดทั้งด้านศีลธรรม วัฒนธรรม ทั้งยังทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย และที่สำคัญเป็นการกระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่ระบุไว้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        นายจรัญ ยังกล่าวว่า ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาได้มีการร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงไอซีทีอยู่เรื่อยๆในเรื่องของมีการโพสต์และแชร์คลิปอนาจารตามช่องทางของทวิตเตอร์ ซึ่งนโยบายของทวิตเตอร์มีความอิสระในการโพสต์ภาพ คลิป ไม่เหมือนกับนโยบายทางเฟซบุ๊ก ทำให้ควบคุมได้ยาก

        เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการโพสต์คลิปที่มีพระเณรเข้ามาเกี่ยวข้อง นักวิชาการคอมพิวเตอร์และปฎิบัติการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกล่าวว่า ใน 3-5 ปี มานี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ก่อนไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข่าวภาพโป๊ คลิปโป๊ของพระสงฆ์เหมือนในปัจจุบัน

       “หากมีการร้องเรียนเข้ามาทางกระทรวงไอซีที กระทรวงก็ต้องตรวจสอบเฝ้าระวัง และเมื่อพบการกระทำผิดจะระงับไอดีผู้ใช้คนนั้นทันที นอกจากนั้นยังมีสำนักงานพระพุทธศาสนาคอยสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตาให้อีกทาง” นายจรัญกล่าวปิดท้าย

         ด้าน ดร. จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กล่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มคนที่แชร์สิ่งลามก อนาจารของเหล่าพระสงฆ์ที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ในด้านกฎหมายคลิปที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เข้าข่ายของคำว่า สิ่งลามกตามประมวลกฎหมายอาญาและตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 สำหรับการนำมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตก็จะถือว่าเป็นความผิดได้ แต่ถ้าไม่ได้เผยแพร่แต่อย่างใด เช่น เก็บไว้ดูเองก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย ส่วนคลิปเพศสัมพันธ์ของเณรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจถือเป็นสื่อลามกเด็ก ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการเผยแพร่ หรือมีไว้ครอบครองเพื่อประโยชน์ทางเพศถือเป็นความผิดทั้งสิ้น

         ดร. จอมพล กล่าวต่ออีกว่า มาตราการในการควบคุมในทางกฎหมาย ต้องใช้มาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร แต่หากมองดีๆมาตรการทางกฎหมายนั้นอาจไม่สามารถแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เรื่องนี้ต้องให้ความรู้แก่คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้น ต้องรู้ว่าอะไรคือข้อมูลที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเชื่อว่าน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้
 
UploadImage
 
 

        หมายเหตุ: ข่าวชิ้นนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานวัตกรรมสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัลชมเชยข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น (พิราบน้อย) ประจำปี 2558 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย