สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รมว.ศธ.เยือนประเทศมาเลเซีย

          ประเทศมาเลเซีย - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Council-SEAMEC) เดินทางไปเยือนประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2559
          รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ได้มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ระหว่างปี 2558 – 2560 โดยมีภารกิจสำคัญในการดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, เมียนมา, ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, ติมอร์-เลสเต และไทย

          ในโอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของซีมีโอ-เรคแซม (SEAMEO Regional Center for Education in Science and Mathematics) ณ เมืองปีนัง ซึ่งศูนย์แห่งนี้รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยให้การฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการสอน การประเมินผล สื่อการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรในสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประเทศสมาชิกซีมีโอ ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบัน และองค์กรต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ

         ในระหว่างการเยือน รมว.ศธ.ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์และมอบรางวัลให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่เข้าร่วมการประชุม 10th Regional Congress on Search for SEAMEO Young Scientists (SSYS)ในหัวข้อ “Youth Innovation for Sustainability” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ ได้นำเสนอกรอบแนวคิดเชิงวิเคราะห์จากโครงงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

        รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานขององค์การซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคทั้ง 20 ศูนย์ และ 1 เครือข่าย ที่ได้ร่วมกันพัฒนางานด้านการศึกษาในภูมิภาคจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง จึงต้องระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความสมดุลและขจัดความยากจนด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ จึงควรมีการสนับสนุนการศึกษาในด้านนี้อย่างจริงจัง รวมถึงงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องบูรณาการแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรจุไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษา และให้ความรู้กับนักเรียนเกี่ยวกับค่านิยมและจริยธรรม การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยครูจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ หรือจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาทัศนคติ ทักษะในการแก้ปัญหาและความสนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้แสดงความยินดีกับตัวแทนนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมงานทุกคน นับเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยได้ส่งผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ จ.เชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ที่มา : นงศิลินี โมสิกะ สรุป/รายงาน
       : ข้อมูลและภาพถ่ายจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.