สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รีวิวสาขาใหม่ วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ สจล.

บทความนี้พี่ๆ AdmissionPremium มีสาขาใหม่น่าสนใจมาแนะนำน้องๆ ม.ปลายทุกคนกัน นั่นก็คือ สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สาขานี้เรียนยังไง จบมาทำงานอาชีพอะไรตำแหน่งไหนบ้าง บทความนี้จะแนะนำสาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะให้ครบทุกซอกทุกมุม ขอให้สาขานี้ได้กลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับน้องๆ ที่ใฝ่ฝันจะเรียนวิศวะสายใหม่กันนะ


รู้จักสาขา วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ 
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถือเป็นสถาบันแรกๆ ที่เปิดสอนสาขานี้ในประเทศไทย สาขานี้จะเป็นสาขาที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมความได้เปรียบด้านการแข่งขันระดับนานาชาติหรือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะทางวิศวกรรมเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ การออกแบบ การแก้ปัญหา รวมถึง การควบคุมการดำเนินการหรือการจัดสร้างระบบหรือเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง 
ชื่อหลักสูตร : หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ ( Bachelor of Engineering Program in Agri-Intelligence Engineering )
รูปแบบ : หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี
ประเภทของหลักสูตร
- หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ แบบพหุวิทยาการ
- หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการแบบก้าวหน้าทางวิชาการ แบบพหุวิทยาการ


วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ เรียนอะไรบ้าง?
ก็จะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับวิศวะสาขาอื่นๆ เช่น แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี เขียนแบบ รวมถึงเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้จะได้เรียนเจาะลึกวิศวกรรมเกษตรโดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานทางวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ พืชและสัตวศาสตร์สำหรับวิศวกรรมเกษตร เศรษฐศาสตร์วิศวกรรมและการเกษตรอย่างยั่งยืน ระบบเมคคาทรอนิกส์ทางการเกษตร

วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ เหมาะกับใคร?
เหมาะกับคนที่สนใจวิศวะโดยเฉพาะควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทางการเกษตร ชอบการคิดวิเคราะห์ ต้องมีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีความรู้ความสามารถรอบด้าน รวมถึงมีทักษะในการแก้ปัญหา

จบมาทำงานอะไร/ที่ไหนบ้าง?
- วิศวกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมถึงอาชีพที่ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตรในทุกองค์กร
- วิศวกรควบคุมการผลิต วิศวกรซ่อมบำรุง ในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และโรงงานประเภทอื่นๆ
- วิศวกรที่ปรึกษาออกแบบระบบจัดการด้านการเกษตร
- วิศวกรฝ่ายขาย เครื่องมือ เครื่องจักรด้านการเกษตร
- นักพัฒนาโปรแกรมสำหรับงานด้านเกษตรอัจฉริยะ
- อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ในสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานอิสระ
- นักการขาย เจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ

หากใครที่ยังมองภาพรวมไม่ออกอธิบายง่ายๆ ก็คือ วิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ เปรียบได้กับ Smart Farming เกษตรอัจฉริยะ ที่ในต่างประเทศใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ที่ได้จัดตั้งสาขานี้ขึ้นมาเพื่อจะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะมาสนับสนุนพัฒนาการเกษตรในประเทศเพื่อยกระดับขึ้นสู่สากลได้ในอนาคต

ดูข้อมูลเพิ่มเติมของหลักสูตรได้ที่ >>> kmitl.ac.th