สอบเข้ามหาวิทยาลัย

5 ความแตกต่าง จิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา



หากพูดถึงการเรียนด้านจิตวิทยากับจิตแพทย์น้อง ๆ หลายคนอาจจะสับสนอยู่บ้างในเรื่องของชื่อที่มีความคล้ายกัน  แต่ขอบอกเลยว่าถ้าน้องรู้จักทั้งสองอาชีพนี้แล้วจะเห็นความแตกต่างได้มากขึ้น ซึ่งวันนี้พี่ Admission Premium ได้รวม 5 ความแตกต่างจิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา มาฝากน้อง ๆ เอาเป็นว่าไปดูกันเลยว่าสองอาชีพนี้จะแตกต่างกันอย่างไร

 

1.ด้านการเรียน

จิตแพทย์ : ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านจิตแพทย์จะต้องจบจากมหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ หรือคณะที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านจิตแพทย์ โดยที่จิตแพทย์ทุกคนจะได้รับการฝึกวินิจฉัยโรคและจิตบำบัด พร้อมทั้งนี้คนที่เป็นจิตแพทย์จะมีคำว่า M.D. ต่อท้ายหลังชื่อ-นามสกุลด้วย การเป็นจิตแพทย์คือ เรียนแพทย์ทั่วไป 6 ปี จากนั้นเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช (Psychiatry) ต่ออีก 3  สรุปคือจิตแพทย์ ซึ่งถือเป็น "แพทย์เฉพาะทาง" ได้ต้องเรียนมาอย่างน้อย 9 ปีครับ
นักจิตวิทยา : สามารถจบการศึกษาได้ทั้งด้านปรัชญา (Ph.D) หรือทางด้านจิตวิทยา (PsyD) ก็ได้ โดยคนที่ศึกษาด้านจิตวิทยาจะเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือเรียกว่าเป็นการเรียนรู้การทำงานของจิตใจของมนุษย์ เช่น การคิด จินตนาการ การฝัน เป็นต้น  โดยใช้เวลาเรียน 4 ปีสำหรับระดับปริญญาตรี
 

2. ด้านการทำงาน

จิตแพทย์ : มีความมุ่งเน้นในการรักษาไปในทางกายภาพและสมองของผู้ป่วย หรือการใช้ยาเพื่อช่วยปรับสมดุลเคมีในสมองให้มีการทำงานได้ตามปกติ
นักจิตวิทยา : จะมุ่งเน้นในการบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ ความนึกคิดของตนเองได้ ทั้งนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการหรือรับมือกับปัญหาทางอารมณ์ให้ดีขึ้น

3. แนวทางการรักษา

จิตแพทย์ : มักใช้ยาเป็นแนวทางในการรักษาอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก
นักจิตวิทยา : ใช้วิธีในการพูดคุยให้คำปรึกษามากกว่า  และบ่อยครั้งที่ จิตแพทย์กับนักจิตวิทยาจะต้องทำงานร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านสภาวะจิตใจ กล่าวคือ นักจิตวิทยาจะค่อยให้คำปรึกษาในการช่วยบำบัดอาการ ส่วนจิตแพทย์จะเป็นคนจ่ายยาให้ผู้ป่วยควบคู่กัน
 

4. ระยะเวลาการรักษา

จิตแพทย์ : ส่วนใหญ่จะนัดพบกับผู้ป่วยในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 – 30 นาที ทำการพูดคุยกับผู้ป่วย และจ่ายยา โดยจะทำการเว้นระยะห่างในการนัดห่างออกไปเป็น 1 – 3 เดือน
นักจิตวิทยา : จะมีการนัดพบพูดคุยกับผู้ป่วยประมาณ 45 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ระยะเวลาในการรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 ครั้ง
 

5. แนวทางการรักษาด้วยการจ่ายยา

จิตแพทย์  : สามารถสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้
นักจิตวิทยา : สามารถทำการจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจากจิตแพทย์หรือมีกฏหมายครอบคลุมว่านักจิตวิทยาสามารถสั่งจ่ายยาได้
 
เป็นยังไงกันบ้างน้อง ๆ พอเห็นความแตกต่างของทั้งสองอาชีพนี้หรือยัง มีทั้งการเรียนที่แตกต่าง รวมทั้งแนวทางประกอบอาชีพที่ค้อนข้างแตกต่างกันชัดเจน ดังนั้นหากวันนี้น้องกำลังตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อทั้งสองสาขาวิชานี้ ก็ลองกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้งว่าเราต้องการประกอบอาชีพอะไร แต่ถึงอย่างไรพี่ Admission Premium ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในฝันที่ตั้งใจไว้
 
 
อ้างอิง >>>Facebook : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย