สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เรียนวิศวะ จบแล้วทำงานอะไร?



ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีกี่ยุคสมัย วิศวกรรมศาสตร์ ก็ยังคงผงาดเป็นสาขายอดฮิตที่น้องๆ ใฝ่ฝันอยากจะเรียน ด้วยความได้เปรียบและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีผลตอบแทนหรือรายได้ที่ค่อนข้างสูง 

และจากการรวบรวมข้อมูลการเรียน สายงานจากแหล่งองค์กรชั้นนำ รวมถึงเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย บทความนี้ Admission Premium จะมาแนะนำเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับ วิศวกรรมศาสตร์แต่ละสาขา เหมาะกับใคร? จบมาสามารถทำงานในตำแหน่งไหนได้บ้าง? น้องๆ ที่เริ่มศึกษา



วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering)
สิ่งที่นักศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะได้เรียนก็คือ ศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเน็ทเวิร์คต่างๆ ครอบคลุมเนื้อหาของวิชา Computer Science ทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องของ Information System และวิศวกรรมไฟฟ้าบางส่วนด้วย

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : นักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบ ผู้ดูแลระบบเครือข่าย วิศวกรระบบ ฯลฯ
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชื่นชอบเรื่องของคอมพิวเตอร์ สนใจใฝ่รู้ในเรื่องเทคโนโลยี ชอบพัฒนาทักษะตัวเองเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์และภาษาคอมพิวเตอร์



วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering)
วิศวกรรมอุตสาหการ หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆ ว่า IE (Industrial Engineering) จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการ การออกแบบอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสมัยใหม่ จุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และประสิทธิการในการทำงาน โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรในโรงงาน ทั้งสายงานการผลิต สายงานการวางแผนผลิต และ สายงานบริหารงานผลิต
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชอบเรื่องของการคำนวณ เพราะหน้าที่หลักของวิศวอุตสาหกร คือการคำนวณทุกอย่าง ตั้งแต่ การใช้งานเครื่องจักร วัตถุดิบ แรงงาน ฯลฯ



วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering)
ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ และการประยุกต์การใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น การใช้งานสมการในการวิเคราะห์ การผลิตและส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้า การจัดการกับสัญญาณไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฯลฯ โดยมีสาขาแยกย่อยลงไปอีกเป็นจำนวนมาก

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรผู้ออกแบบ ควบคุม ติดตั้ง ดูแลระบบไฟฟ้าและระบบส่องสว่าง และ Sale Engineer
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : สนใจเรื่องของวงจรไฟฟ้า ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ สามารถวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมไฟฟ้าไปใช้งาน รู้จักปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ



วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering)
นี่คือสาขาทางด้านวิศวกรรมที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม วิศวกรรมเครื่องกล เน้นศึกษาโดยใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ เคมี มาประยุกต์ใช้กับงานด้านกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหลและพลังงาน รวมถึงการออกแบบเครื่องจักรกล เช่น ระบบไฮดรอลิก หุ่นยนต์ พลศาสตร์การบิน การควบคุมการผลิตเครื่องจักร ยานยนต์ อากาศยาน ระบบทำความร้อนและความเย็น และอื่นๆ อีกมากมาย

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรในสายงานวิศวกรรมเครื่องกล เช่น สายทำความเย็นและปรับอากาศ (ติดตั้ง / ออกแบบ), สายยานยนต์ โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน งานวิจัยและพัฒนา, สายพลังงาน โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ผลิตสำรวจน้ำมันและก๊าซ, สายซ่อมบำรุง โรงงาน โรงไฟฟ้า โรงปิโตรเคมี, สายออกแบบ งานด้าน engineering detail design, sale engineer
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชอบเรียนวิชาฟิสิกส์เป็นชีวิตจิตใจ และสนใจในเรื่องของเครื่องยนต์กลไกทุกชนิด



วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)
งานของวิศวกรโยธา คือการวางแผนและควบคุมการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น  ถนน สะพาน ระบบขนส่ง อาคาร ระบบสุขาภิบาล วิจัยและให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคต่างๆ ในการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นึกศึกษาที่จบจากสาขานี้ สามารถประกอบอาชีพ เช่น วิศวกรสำรวจ วิศวกรด้านโครงสร้าง วิศวกรด้านควบคุมและออกแบบการจราจร วิศวกรภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรออกแบบโครงสร้าง วิศวกรประมาณราคาสถาปัตย์ และวิศวกรสนามในบริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชื่นชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสาธารณูปโภค การสำรวจ และการทำแผนที่ ชอบลงมือปฏิบัติงาน ชอบการพัฒนาประเทศ โดยอาศัยสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ



วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering)
สาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพสูง เช่น การสร้างอวัยวะเทียม หรือพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ชิ้นใหม่ๆ

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรชีวการแพทย์ ในหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ บริษัทรับซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : สนใจทั้งเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ ชีววิทยา เคมี เภสัชศาสตร์ รังสีวิทยา เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง ชอบศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนให้สามารถนำมาใช้ได้จริง



วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering)
วิศวกรรมเคมี คือสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ วางแผน ควบคุมกระบวนการทางเคมี และพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ โดยใช้กระบวนการกายภาพ เคมี หรือชีวเคมี ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะ และคุณสมบัติของวัตถุดิบให้กลายไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการนำเอาศาสตร์ของวิศวกรรมเครื่องกลและวิชาเคมี มาประยุกต์เข้าด้วยกัน

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรผู้ควบคุมระบบและกระบวนการผลิตในโรงงาน วิศวกรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมี อาจารย์ นักวิชาการ หรือรับราชการที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมี
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชอบเรียนวิชาเคมีและฟิสิกส์ สามารถประยุกต์ความรู้ไปทำงานทางด้านพลังงาน ชีวเคมี สิ่งแวดล้อมและวัสดุได้



วิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering)
สาขานี้ เน้นศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนขุดเจาะและการผลิตไฮโดรคาร์บอน ซึ่งได้แก่ น้ำมันหรือก๊าช อันถือถือว่าอยู่ในภาค "ต้นน้ำ" ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ สถานที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่คือนอกชายฝั่งหรือประจำแท่นขุดเจาะที่มีความเสี่ยง นักศึกษาที่จบสาขานี้จึงได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มวิศวกรด้วยกัน

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรปิโตรเลียม ดูแลการเจาะและการผลิต น้ำมันหรือก๊าชธรรมชาติขึ้นมาจากแหล่งกักเก็บใต้ผิวดิน ลักษณะงานมีทั้งภาคออกแบบ ศึกษา วางแผน และภาคสนาม
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : สนใจในเรื่องของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ต้องเป็นคนที่เก่งมาก เพราะสาขานี้ได้ชื่อว่าคัดแต่หัวกะทิ มีคนสนใจเข้าเรียนเยอะ แต่มีเพียงไม่กี่สถาบันที่เปิดสอน



วิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics Engineering)
เรียนเกี่ยวกับเทคนิคทางด้านการออกแบบ และควบคุม สำหรับการขนส่ง จัดเก็บ เคลื่อนย้าย สินค้าและบริการ การวิเคราะห์ วิจัยปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่วนที่ เกี่ยวข้องในระบบโซ่อุปทาน และการประยุกต์ทางด้านเทคนิคต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการ การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรประจำคลังสินค้า วิศวกรจัดซื้อ วิศวกรขนส่ง วิศวกรออกแบบระบบขนถ่ายวัสดุ วิศวกรออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิศวกรบริหารนักวิเคราะห์ธุรกิจและโมเดลโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ วิศกรออกแบบและวางแผนระบบการให้บริการโลจิสติกส์ รับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ในสาขาโลจิสติกส์
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : มีความรู้แนวคิดและหลักการด้านวิศวกรรมกับโลจิสติกส์ ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ แคลคูลัส เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์



วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering)
สาขานี้จะเป็นเรื่องของการวิจัย ออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างรูปร่างทางพลศาสตร์ เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระบบขับเคลื่อน วัสดุและกรรมวิธีในการผลิต การวางแผนและควบคุมการสร้างเครื่องบิน ขีปนาวุธ ยานอวกาศ ดาวเทียม ฯลฯ รวมไปถึงการทดสอบหรือการซ่อมบำรุงด้วย เป็นอีกหนึ่งสาขายอดฮิตและมีค่าตอบแทนในการทำงานที่ค่อนข้างสูง

อาชีพหรือตำแหน่งงาน : วิศวกรด้านอากาศยาน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน วิศวกรควบคุมการโคจรและสถานีดาวเทียม วิศวกรบริหารการจัดการในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจการบินและอวกาศ วิศวกรจัดการธุรกิจการขนส่งทางอากาศ
คนที่เหมาะจะเรียนสาขานี้ : ชื่นชอบเรื่องของเทคโนโลยีการบินและอวกาศ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และชอบความท้าทาย ชอบค้นหาสิ่งใหม่ๆ