สอบเข้ามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเอกชน เผยกฎหมายสองมาตรฐาน สกอ. ควรปรับบทบาทสนับสนุน ม.เอกชนมากขึ้น

 UploadImage

                อธิการฯ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่าข้อกฎหมายบางข้อที่ใช้กำกับดูแลมหาวิทยาลัย ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเอกชน เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยรัฐบาล และต้องการให้ สกอ.ปรับบทบาท เน้นสนับสนุนมากกว่ากำกับดูแล เปิดกว้างให้มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดหลักสูตรร่วมต่างประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพเท่าเทียมมหาวิทยาลัยรัฐ
 
                นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเอกชนถือเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ได้เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลในการผลิตบัณฑิต ทรัพยากรบุคคลของประเทศ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม รับใช้ประเทศไปแล้วหลายแสนคน และในการผลิตบัณฑิตไม่ได้ใช้งบจากรัฐบาลหรือภาษีของประเทศ ถือเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐบาลและประเทศ แต่เมื่อมองเรื่องของการกำกับดูแลกลับพบว่า หน่วยงานของรัฐอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้มีแนวทางหรือข้อกฎหมายที่เอื้อให้เอกชนได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ แถมเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐจะเห็นได้ว่ามีข้อกฎหมายหลายเรื่องมีลักษณะสองมาตรฐาน อุ้มมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่กีดกันการพัฒนามหาวิทยาลัยเอกชน และ สกอ.ก็ยังไม่เข้าใจการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยเอกชน
 
                "ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การกำกับดูแลของ สกอ.ต้องมีการปรับให้เท่าทันยุคสมัย เปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากการกำกับดูแลเป็นส่งเสริม สนับสนุน เช่น ควรมีการส่งเสริม เปิดกว้างให้มหาวิทยาลัยเอกชน สามารถไปเปิดหลักสูตร ความร่วมมือในต่างประเทศได้ ไม่ใช่พอทราบว่ามหาวิทยาลัยไทยจะไปเปิดหลักสูตรต่างประเทศก็จะสร้างกฎหมาย ข้อบังคับมาควบคุม เพราะการไปเปิดหลักสูตรในต่างประเทศได้นั้น มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามกรอบของประเทศนั้นๆ ซึ่งได้รับมาตรฐานอยู่แล้ว สกอ.ควรช่วยสร้างกลไกกำกับดูแลที่เอื้อประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง"
 
                อธิการบดี ม.หอการค้าฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สำหรับ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 นั้น อยากให้กำหนดกฎเกณฑ์เอื้อประโยชน์ หรือมีแนวปฏิบัติต่อมหาวิทยาลัยเอกชน เช่นเดียวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะตอนนี้กฎหมายควบคุมระหว่างรัฐและเอกชนมีความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่มหาวิทยาลัยเอกชนมีศักยภาพ ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐ.


ข่าวจาก : ไทยโพสต์