สอบเข้ามหาวิทยาลัย

นร.-นศ.ยกป้ายก่อกวน 'มีชัย' ต้านรธน. กลางเวทีเสวนา

 

UploadImage

            “มีชัย”เดินสายแจกแจงทำความเข้าใจร่าง รธน.ฉบับ กรธ. อ้างยกร่างหนนี้มีกรอบ รธน.ชั่วคราวครอบไว้ให้เขียนตาม โบ้ยเนื้อหาโหดเหี้ยมไม่ใช่ความตั้งใจของ กรธ.เพียงฝ่ายเดียว ตามอัดพวกปลุกกระแสคว่ำหลอนกลไกปราบโกง สะดุ้งเจอเด็กมัธยมชูป้ายกระแทกกระทั้นระหว่างปาฐกถา ผสมโรงด้วยกลุ่มนักศึกษา มธ.และ “จ่านิว” เจ้าเก่า เขียนข้อความเหน็บ “อย่าสร้างภาระให้คนรุ่นหลัง” พร้อมโวยวายไม่รับร่าง รธน. ป่วนงานจนอลเวง “ซือแป๋” เซ็งเป็ดหมดอารมณ์พูด ปลงคาดไว้แล้วต้องมีแบบนี้ ขึ้นเวทีครั้งหน้าอาจเจออีก ยืนยันไม่เสียกำลังใจ สนช.เตรียมลุยไฟไม่สะท้านกระแสต้าน จ่อตั้งคำถามตามมติ สปท. ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ “บิ๊กตู่” ยันไม่มีใบสั่งคำถามพ่วง เชื่อมีคนชักใยบงการนักศึกษาป่วน “มีชัย” ปรี๊ด จับก็หาว่ารังแก ปล่อยก็เคลื่อนไหวปั่นป่วนซ้ำซาก ย้ำกรณี “ขันแดง” รู้ๆกันอยู่เจตนาคืออะไร “บิ๊กป้อม” ช่วยเฉลยสัญลักษณ์แบ่งฝ่าย ขยายขัดแย้ง คสช.สแกนพฤติกรรมเล็งจับเข้าหลักสูตรอบรมทั้งนักศึกษา-อดีต ส.ส.

             ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ยังคงมีภารกิจต่อเนื่องในการเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ก่อนถึงวันลงประชามติ ล่าสุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ไปกล่าวปาฐกถา กรอบแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ากลุ่มนักเรียนและนักศึกษา รวมตัวกันมาชูป้ายข้อความ พร้อมประกาศท่าทีไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ จนเกิด เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย

“มีชัย” อ้างยกร่าง รธน.โหดตามน้ำ

             เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการจัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2559 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “กรอบแนวคิด ในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.” โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งนักเรียน เข้าร่วมสัมมนาราว 100 คน นายมีชัยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้คือครั้งแรกที่มีกรอบนั่นคือมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ร่างต้องมีตามนั้น อะไรที่โหดเหี้ยมไม่ใช่ความตั้งใจของ กรธ. อย่างเดียว แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ว่า ใครจะร่างอีกกี่ครั้งก็ต้องเป็นไปตามนี้ ส่วนการรับ ฟังความเห็นพบว่าประชาชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าตื่นตัวและติดตามการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก

พวกปลุกคว่ำกลัวกลไกปราบโกง

            นายมีชัยกล่าวว่า สำหรับกรอบตามมาตรา 35 ประการที่ 1-2 ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องที่ 3 กลไกการขจัดการทุจริตเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มีกลไกที่สามารถควบคุมอำนาจรัฐไม่ให้มุ่งประสงค์แบบที่เคยเป็นมา เรื่องนี้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้หลายมาตราเพื่อป้องกันการโกงทั้งรัฐบาลและหน่วยราชการ ซึ่งเป็นข้อห้ามตั้งแต่ฉบับปี 40 ร่างฉบับนี้เราได้ใส่บทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น ที่นัก การเมืองหลายคนกลัว รณรงค์คว่ำพวกเขากลัวเรื่องนี้ แต่ไม่เป็นไรมันอาจจะเจ็บแต่เป็นผลดีระยะยาว หวังว่าจะขจัดการทุจริตได้หมดไปในยุคนี้ เราได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของนักการเมืองค่อนข้างเข้มงวดแต่ไม่ได้เข้มงวดเกินกว่าปกติ นำคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้านมากำหนดไว้ให้กับนักการเมือง หากใคร ถูกพิพากษาโดยเฉพาะการทุจริตพวกนี้ต้องไม่เข้ามาสู่การเมืองแบบเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนการกำหนดไม่ให้นักการเมืองถูกครอบงำ ก็ได้กำหนดอำนาจของ ครม.ไว้ให้ทำงานอย่างเปิดเผย สุจริต นึกถึงประชาชน คุ้มครองทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ซึ่งเรานำมาจากบทเรียนในอดีต หากเขาทำงานอย่างสุจริตก็ไม่มีปัญหา และจะไม่มีใครสามารถสั่งข้ามทวีปได้แน่นอน

แจงเหตุผล ส.ว.ต้องลากตั้งทั้งพวง

           นายมีชัยกล่าวอีกว่า กรอบต่อมาคือการกำหนดกลไกป้องกันประชานิยมที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งมีกลไกการเตือนภัยจากองค์กรอิสระที่หลายคนบอกว่ามีอำนาจมาก จริงๆแล้วคือการตรวจ สอบผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รายงานไป ยัง ครม.และรัฐสภาว่ามีผลกระทบอย่างไร ส่วนอำนาจ อยู่ที่ ครม.และสภา องค์กรอิสระไม่สามารถสั่งให้ยุติได้ หาก ครม.ทำแล้วผิดจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายคนบอกว่าแก้ยาก เราพบว่าเมื่อมีความจำเป็นในการแก้รัฐธรรมนูญ หากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันก็แก้ไม่ยาก แต่หากใช้เสียงข้างมากแก้ตามอำเภอใจก็จะมีปัญหา ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีเสียงจากทั้งสองฝ่ายและวุฒิสภา เพื่อไม่ให้เกิดการเดินขบวนเหมือนในอดีต ส่วนกลไกการปฏิรูปจะบอกถึงด้านต่างๆที่คิดว่าจำเป็นต้องปฏิรูปแบบเร่งด่วน บอกถึงหัวข้อและเป้าหมายที่ต้องบรรลุ ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ ส.ว.ระยะแรกต้องมาจากสรรหาทั้งหมดเพื่อผลักดันการปฏิรูป ส่วนการปฏิรูปตำรวจในเบื้องต้นใน 1 ปี ให้เป็นไปตามหลักอาวุโส แปล ว่าไม่ต้องวิ่งเต้น ทุกคนเท่ากัน ส่วนหน่วยงานราชการหากทำการปฏิรูปไม่เสร็จ เรากำหนดให้ย้ายหัวหน้าหน่วยงานหน่วยงานนั้นๆ

เด็ก ม.ปลายชูป้ายกระแทก “มีชัย”

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการปาฐกถาของนายมีชัย ได้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายขึ้นเมื่อกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ได้มาร่วมฟังนายมีชัยพูดตั้งแต่ต้น ลุกขึ้น ชูป้ายข้อความที่เขียนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญอย่าทำร้ายเยาวชน # เอา ม.ปลายฟรีของเราคืนมา” และ “อนุบาล ฟรีก็ดี แต่ ม.ปลาย/สายอาชีพฟรี ก็ต้องมี ไม่ต้องง้อกองทุน # เอา ม.ปลายฟรีของเราคืนมา” ก่อนที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่จะมาเชิญกลุ่มนักเรียนดังกล่าวออกจากห้องไป ท่ามกลางเสียงตะโกนต่อว่าของผู้ร่วมสัมมนาว่า “เรียนเตรียมอุดมเสียเปล่า แต่ไม่มี มารยาท” ภายหลังเหตุการณ์สงบลง นายมีชัยจึงพูดต่อด้วยอารมณ์ขุ่นมัวว่า เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนว่าเราต้องได้รับการศึกษาเพื่อให้คนมีวินัยและมีความอดกลั้น รับฟังความเห็นคนอื่น ซึ่งสำคัญมาก ที่บ้านเมืองไม่ได้เดินหน้าเพราะเยาวชนขาดวินัย การบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด คนผิดไม่ถูกดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งต้องกำหนดให้พระพุทธศาสนาเถรวาท บังคับจิตใจให้เด็กมีวินัย

ป่วนอีกชุด “จ่านิว” ผสมทีม “หน้ากาก”

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายมีชัยกำลังกล่าวปาฐกถาต่อไปนั้นได้มี “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” สวมใส่หน้ากากรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เดินเข้า มาในห้อง ผสมโรงกับ “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ที่นั่งอยู่ในห้องสัมมนาตั้งแต่ต้น สร้างความปั่นป่วนอีกครั้ง พร้อมชูป้ายข้อความ “อย่าสร้างภาระให้คนรุ่นหลังเถอะลุง” “สมคบคิด คสช.กดหัวประชาชน” “หยุด สืบทอดอำนาจ” “โหวตโน” และตะโกนว่า “ไม่รับ” ทำให้สถานการณ์วุ่นวายหนักกว่าเก่า เจ้าหน้าที่รีบมาเชิญตัวทั้งหมดออกมานอกห้อง จากนั้นนายมีชัยกล่าวจบการปาฐกถาสั้นๆแบบหมดอารมณ์ว่า “ความเห็นต่างเกิดประโยชน์เสมอก็ต้องรับฟัง วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อพวกเธอโตขึ้นกว่านี้ คงเรียนรู้จากประสบการณ์แล้วจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

“มีชัย” ปลงคาดไว้แล้วต้องมีแบบนี้

              นายมีชัยให้สัมภาษณ์หลังการปาฐกถาว่า เรื่องที่วุ่นวายเป็นธรรมดา เพราะเป็นพื้นที่ของมหา– วิทยาลัยที่เป็นเสรี แต่หากการแสดงความเห็นของ พวกเขาเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจถือเป็นสิทธิของพวกเขา แต่หากเป็นการแสดงความเห็นเพราะมีใครวางมาให้ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เขาไม่ได้เรียนรู้เสรีภาพที่แท้จริง เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ระหว่างการรณรงค์ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยตอบว่า คงจะมีเป็นระยะ เพราะรู้สึกว่ามีการ ระดมกำลังจากบางพรรคพอสมควรในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นเราก็ต้องอดทนอดกลั้น เพราะมีหน้าที่ชี้แจง บรรยากาศที่เจอในวันนี้อาจจะเจอต่อไปในเวทีชี้แจงก็เป็นได้ แต่ไม่เป็นไร พอเห็นความเคลื่อน– ไหวทางการเมืองเราก็คาดการณ์ว่าจะมีอย่างนี้ ตนไม่เสียกำลังใจและรู้สึกว่าต้องมีการพัฒนาความรู้ด้านเสรีภาพและสิทธิ หากไม่รับรู้ความเห็นต่าง สังคม ก็ไม่สุขสงบ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องไปเรียนรู้และต้องไม่ทำอะไรให้เยาวชนเสียหาย

รอดูคำถามพ่วงก่อนเทกแอ็กชั่น

             เมื่อถามว่า มองว่าหากบรรยากาศวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะเป็นจุดที่ทำให้ความเห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมเวทีรณรงค์ได้หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า หาก ไม่ฝึกให้มีวินัยหรือใจคอกว้างก็จะเป็นอย่างนั้นได้ อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังไม่ทราบว่าจะวางแผนรับมือกับผู้เห็นต่างอย่างไร คงต้องไปหารือกันอีกครั้ง เมื่อถามว่า คำถามพ่วงประชามติที่ สนช.เตรียมพิจารณามีนักวิเคราะห์มองว่าจะทำให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจลงประชามติ นายมีชัยตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าคำถามนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือขัดแย้งกัน มากแค่ไหน เราเองยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบความชัดเจนว่า สนช.จะตั้งคำถามหรือไม่ และคำถามนั้นมีว่าอย่างไร หากทราบทั้งสองประเด็นถึงจะวิเคราะห์ได้ เมื่อถามว่า การมีคำถามพ่วงเพราะกรธ.เขียนรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์ คสช.หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ไม่รู้ตอบไม่ได้ ความคิดของคนอื่นตอบไม่ได้ เมื่อถามถึงท่าทีของ สนช.ที่ตอบรับกับคำถามพ่วงที่ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯจะเป็นตัวฉุดร่างรัฐธรรมนูญให้ไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า อย่าไปกังวลตรงนั้น เพราะยังไม่รู้ว่าคำถามเป็นอย่างไร

สนช.จ่อตั้งคำถามพ่วงตามมติ สปท.

              เมื่อเวลา 17.30 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐ– ธรรมนูญ แถลงผลการประชุมวิป สนช.ว่า ที่ประชุมวิป สนช. มีมติให้ สนช.ส่งคำถามพ่วงการทำประชามติ จำนวน 1 ข้อ จากการรวบรวมความเห็นของคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆของ สนช. สมาชิก สนช. และ มติ สปท. เห็นว่า คำถามของ สนช.ควรมีหลักการใกล้เคียงกับคำถามที่เป็นมติของ สปท.ที่เสนอมาคือ การให้รัฐสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่สามารถระบุประเด็นคำถามที่ชัดเจน เนื่องจากยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องหลักการที่ให้รัฐสภากำหนดกลไกในช่วงเปลี่ยนผ่านควรเป็นอย่างไร และระยะเวลาเหมาะสมช่วงเปลี่ยนผ่านควรเป็นเท่าใด นอกจากนี้ ยังมีสมาชิก สนช. 4 คน ได้เสนอประเด็นเพิ่มเติมในการตั้งคำถาม และขอสงวนความเห็นการตั้งคำ ถามเพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุม สนช. วันที่ 7 เม.ย.

ไม่สาใจ “เจตน์” ขอ ส.ว.โหวตซักฟอก

             นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า วิป สนช.ยังไม่สามารถสรุปประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่ชัดเจนได้ เนื่องจากยังมีสมาชิกบางส่วนเห็นต่างในเรื่องที่ให้รัฐสภากำหนดกลไกในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะบางคนอยากให้รัฐสภามีอำนาจถึงขั้นคุมรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ดังนั้น จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 7 เม.ย. เพื่อให้ สนช.ลงมติหาข้อสรุปต่อไป

“มาร์ค” ยัน ส.ว.โหวตนายกฯมีปัญหา

              ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการตัดสินใจตั้งคำถามเพิ่มเติมไปกับการทำประชามติของ สนช. เรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.สรรหาหรือแต่งตั้งมาลงคะแนนลบล้างคะแนนเสียงของ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.จะบริหารงานยาก ทั้ง การผ่านกฎหมาย การผ่านงบประมาณ หรือญัตติต่างๆ หากประชาชนมองว่าเสียงของตัวเองถูกลบล้าง อาจเกิดความขัดแย้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และคณะคงได้ดูประเด็นนี้แล้ว แต่ตัดสินใจไม่เอา

อย่าถามพ่วงให้เกิดความสับสน

           “สิ่งที่ควรทำขณะนี้ คือประชามติต้องเป็นไปตามหลักสากล ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก คสช. ควรทำให้ชัดเจนว่า ทางเลือกของประชาชนคืออะไร หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วร่างใหม่ที่จะนำมาใช้จะเป็นอย่างไร โดย สนช.ควรหลีกเลี่ยงการพ่วงคำถามใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสับสน จะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่ขัดกับหลักการของ กรธ.” นายอภิสิทธิ์กล่าว เมื่อถามว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีให้ชัดเจนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า นปช.กำลังเอาร่างรัฐธรรมนูญไปสร้างความขัดแย้ง เราตอบชัดเจนไปแล้วว่าส่วนไหนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ทำให้คนกังวลค่อนข้างมาก คือ ท่าทีของ นปช.และพรรคเพื่อไทย ที่ไปเล่นการ เมือง เช่น เรียกร้อง คสช.หรือนายกรัฐมนตรีลาออก ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องพิจารณาท่าทีให้รอบคอบ

แนะรีบลงพื้นที่แจงเนื้อหาให้ชัด

           นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ระบุว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ก็ต้องเลือกตั้งปี 60 ว่าเป็นหน้าที่ คสช. กกต. สนช. และรัฐบาลต้องรณรงค์ให้เห็นจุดดีจุดด้อยของร่างฯอย่างเท่าเทียม วันลงประชามติกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว รัฐบาลมีกองกำลังในมือ ต้องลงพื้นที่ชี้แจงทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตั้งแต่วันนี้ รวมถึงบอกให้ชัดเจนว่าถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่ผ่านจะมีทางออกอย่างไร

“บิ๊กตู่” ยันไม่มีใบสั่งคำถามพ่วง

              เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอพ่วงคำถามในการทำประชามติ โดยให้ ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี โดย สนช.มีแนวโน้มเห็นด้วยกับคำถามพ่วงดังกล่าวว่า ยังไม่มีคำถามคำตอบใดๆ เพราะไม่เกี่ยวข้องตรงนี้ เรื่องนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้คำว่า “ก็ได้” หมายถึงมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้ามีขึ้นมาก็ต้องไปผ่านการพิจารณากลั่นกรองของ สนช.จบแค่นั้น ตนสั่งไม่ได้เลย ไม่ใช่คนตั้งคำถาม เรื่องรัฐธรรมนูญปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการจะดีกว่า ออกมาอย่างไรก็เอาตามนั้น ทุกคนก็ไปลงประชามติ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป ไม่ใช่ว่าจะต้องแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่ายกันอีก เห็นต่างก็อยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องไปต่อต้านตั้งแก๊งขึ้นมาคัดค้านรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ หรือจะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ลงก็อย่าลง ถ้าไม่ลงมันก็จะเป็นเหตุผลที่ต้องทำงานกันต่อไปแค่นั้นเอง อยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศอยากได้อะไรก็ทำ แต่อย่าขัดแย้งใช้อาวุธกันใหม่อีกรอบ แบบนั้นตนไม่ยอม

เชื่อมีคนชักใย นศ.ป่วน “มีชัย”

            พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักศึกษาเข้าไปป่วนเวทีสัมมนาขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ปาฐกถาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ว่า มันสมควรหรือไม่ หลายคนเป็นนักศึกษามาก่อนถ้าเอาทุกเรื่องไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมดอย่างนี้มันได้หรือไม่ อย่าลืมว่าวันนี้คือวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ต้องให้เกียรติ คนซึ่งเป็นเจ้าของงานบ้าง จะสอบทางลึกว่าใครอยู่เบื้องหลังในการทำแบบนี้ สังคมต้องแยกแยะให้ออก อย่าไปร่วมมือ มันต้องมีใครสักคน กลุ่มไหนสื่อรู้กันหรือไม่ว่ากลุ่มไหน เป็นกลุ่มคนดีหรือเปล่า กลุ่มคนที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลหรือเปล่า มันก็มีเบื้องหลังทั้งสิ้น ทุกคนก็รู้กันอยู่ ทำไมต้องให้บอกหรือตอบให้ชัดเจนว่าเป็นใคร

ขู่จับขังเอือมก่อวีรกรรมซ้ำซาก

            เมื่อถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายจะเชิญตัวเข้าอบรมตามหลักสูตรของ คสช.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เดี๋ยว คสช.พิจารณากันเอง แต่พอทำแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นว่านักศึกษาเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องให้อภัย ไม่รู้จะเอาอะไรกับตน บ้านเมืองก็จะให้อยู่อย่างปกติสุข แต่กฎหมายก็บังคับใช้ไม่ได้ คนฝ่าฝืนกฎหมายก็ไปเห็นอกเห็นใจกัน แล้วมันจริงหรือเปล่าที่บอกว่าเจตนาบริสุทธิ์ ถ้าทุกคนมีเจตนาบริสุทธิ์จริงก็พร้อมให้อภัยทุกครั้ง แต่ชักทำหลายครั้ง อันนี้ก็แสดงว่าไม่บริสุทธิ์แล้ว ต้องลงโทษ ไม่เช่นนั้นบ้านนี้เมืองนี้จะมีกฎหมายไว้ทำไม เอาไว้ขังมดขังปลวกหรืออย่างไร ประเทศชาติจะสงบสุขได้ต้องอาศัยกฎหมายเท่านั้น ด้วยการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เที่ยงธรรม เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ต้องปรับปรุงตนเอง

ใครผิด ก.ม.ฟันแหลกย้ายไม่เลี้ยง

           พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่คนใดทำความผิดต้องถูกลงโทษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ 5 เสือ 5 สิงห์ กระทิง แรด โดนไปหลายพื้นที่แล้วบางครั้งการเป็นผู้ใหญ่ในการบังคับบัญชาคน ถ้าไปพูดอะไรมากก็จะกลายเป็นเรื่องไปประจานคน มันก็ไม่ค่อยดี เพราะคนที่เหลืออยู่จะเสียกำลังใจ จึงต้องพูดกลางๆออกไป คนดีจะได้พอมีกำลังใจ ถ้าพูดอะไรแย่ๆกล่าวร้ายตลอดเวลา คนดีจะเสียขวัญ ไม่กล้าทำอะไร คิดว่าอยู่เฉยๆดีกว่า ชั่วไม่มีดีไม่ปรากฏอยู่ไปแบบนั้น วันนี้ยืนยันว่าเราลงโทษทั้งหมด บ่อนการพนันต่างๆ อย่างพื้นที่ดอนเมือง ไม่เคยมีใครจับได้ ก็จับหมดแล้ว ย้ายทั้งหมด สอบสวนทั้งหมด ทุกคดีส่วนใหญ่จับได้ ที่เหลือก็ตามสืบอยู่ ที่ผ่านมามีใครกำกับดูแลแบบนี้บ้าง ก็มีแต่รัฐบาลนี้ที่รองนายกฯ รัฐมนตรีสั่งการแล้ว นายกฯก็ต้องสั่งอีก มันอยู่ที่การเอาใจใส่ของผู้บริหาร

ยันขันแดง “ทักษิณ” ส่อเจตนาชัด

             “เรื่องขันมีที่ไหนเขาใส่รูปหน้า รูปตัวหนังสือลงไป ไม่มีใครเขาทำหรอก แล้วมากล่าวหาว่าเราไปรังแกเขา จุดประสงค์เขาทำเพื่ออะไร ทุกคนก็รู้อยู่แล้วจะไปขยายความให้เขาทำไม ผมไปต่างประเทศทุกคนก็โอเค ยินดีที่จะร่วมมือกับเรา ยินดีกับเราที่จะเดินหน้าไปตามโรดแม็ป ไม่เห็นมีใครเขารังเกียจผมว่านะต้องอย่างนี้อย่างนั้น ผมไม่เข้าใจจริงๆ และผมก็บอกทั้งหมดกับทุกประเทศว่า คนที่ทำร้ายประเทศไทยคือใคร ผมก็บอกทั้งหมด เขาก็ยิ้มๆ หัวเราะอยู่” นายกฯกล่าว

“บิ๊กป้อม” ชี้สัญลักษณ์แบ่งฝ่าย

              พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่จะเรียกอดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ที่แจกขันแดง ไปเข้าค่ายอบรมว่า กำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่ได้คิด คงต้องคุยกันก่อนว่าทำไปทำไม ถ้าหวังดีต่อส่วนรวมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำแล้วสร้างความแตกแยกไม่น่าจะให้เกิดขึ้น เพราะเหลือเวลาอีกปีเศษจะมีการเลือกตั้งแล้ว กรณีนี้จะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์หรือไม่นั้นไม่รู้จะมองยังไง คงมองว่านี่แหละเป็นพวกนี้ อย่างนี้ แบบนี้ แบ่งฝ่ายชัดเจน ซึ่งมันไม่ค่อยดี อย่าไปทำเลย เมื่อถามว่า นอกจาก จ.เชียงใหม่ และน่าน แล้วมีพื้นที่อื่นอีกที่แจกขันแดงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ถ้าจับได้แล้วจะบอก ไม่ต้องห่วง เพราะมีการรายงานมาหมด เมื่อถามอีกว่า ถ้าแจกเพื่อสนับสนุนคสช.ทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า “แบบที่นายกฯว่า แจกโอ่งดีกว่า บรรจุน้ำเยอะๆ มันจะได้ไปใช้นานๆ ขันแป๊บเดียวก็หมดแล้ว” ผู้สื่อข่าวซักว่า ถ้าแจกเป็นโอ่งอยากจะตั้งชื่อหรือไม่ว่าเป็นโอ่งอะไร พล.อ.ประวิตรย้อนว่า “คุณชื่ออะไร ผมจะตั้งชื่อคุณเดี๋ยวนี้”

คสช.จ้องจับนักศึกษาเข้าอบรม

            ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” และ “กลุ่มประชาธิปไตยใหม่” ชูป้ายข้อความระหว่างงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า กรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายกระทำความผิดที่จะต้องเข้าหลักสูตรอบรมหรือไม่ ต้องรอการประสานข้อมูลกับหน่วยทหารในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อขอข้อมูล

สแกนพฤติกรรมอดีต ส.ส.น่าน

           พ.อ.วินธัยยังกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารยึดขันแดงของอดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ว่า เจ้าหน้าที่จะดูที่พฤติกรรมและเจตนาของบุคคลนั้นๆ หากมีพฤติกรรมที่ไม่เสริมสร้างความสามัคคี สร้างความขัดแย้ง รวมทั้งให้ร้ายบุคคลอื่นโดยที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาอีกทีว่าเข้าข่ายรับการอบรมหรือไม่ การแจกขันแดงนั้น มองว่าสีแดงในอดีตเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งในวงกว้าง การจัดกิจกรรมที่สวมเสื้อสีแดงที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่อาจมองเป็นพฤติกรรมที่ยั่วยุ แต่บางสังคมมองว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ปลุกเร้ามวลชน เมื่อถามว่าต่อไปนี้ขันสีแดงจะใช้ได้หรือไม่ พ.อ.วินธัยตอบว่า ต้องดูที่เจตนาการกระทำหากใช้ขันสีแดงไว้รดน้ำต้นไม้ก็ไม่เป็นไร

หลักสูตรมุ่งปรับแนวคิดเพื่อชาติ

            พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวถึงความคืบหน้าของหลักสูตรของ คสช. หลักสูตรดังกล่าวเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หลักสูตรนี้คล้ายหลักสูตรทหารโดยทั่วไป เน้นการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ รับฟังความคิดเห็นกันและกัน พร้อมทั้งให้ข้อมูลแนวทางต่างๆ รวมทั้งความรู้เพิ่มเติมหลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมอยากรู้ อีกทั้งเรื่องที่เราควรรู้ร่วมกัน สำหรับรูปแบบการอบรมขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม คิดว่าไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่ง แต่มีแนวความคิดที่หลากหลาย มุ่งให้ผู้เข้ารับการอบรมมีแนวทางให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ขอย้ำว่าเราไม่ได้บังคับให้มีความคิดเห็นเหมือนรัฐบาล และ คสช. เพียงแต่ขอให้มีความคิดเห็นทางการที่สร้างสรรค์เท่านั้น

อดีต ส.ส.น่าน พท.พร้อมพบทหาร

           นายณัฐพงษ์ สุริยศิลป์ อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คสช.เตรียมเชิญนักการเมืองแจกขันแดงไปอบรมหลักสูตรของ คสช. ยังไม่ได้รับเชิญ ถ้าหากเชิญมาก็คงจะต้องไป สำหรับการแจ้งข้อหาผิดมาตรา 116 คิดว่าแรงเกินไป ภายหลังจากการบุกยึดขันก็ยังมีทหารเข้ามาหาอยู่ตลอด แต่ไม่มีอะไร เมื่อถามว่าช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมืองที่จะถึงนี้จะแจกขันอยู่หรือไม่ นายณัฐพงษ์ตอบว่า มีการขอความร่วมมือมาว่าไม่ให้แจกเลย ทางเราเองยังไม่ทันจะแจกด้วยซ้ำ ตอนแรกคิดว่าจะแจกช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรืออาจจะไม่แจกเลย เพราะเห็นข่าวการจับก็กลัวว่าคนที่ได้รับไปจะเดือดร้อน สุดท้ายก็มาโดนบุกยึดขันไปก่อน

            ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต รมช.สาธารณสุข และอดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากมีการบุกยึดขันตามที่เป็นข่าวไป ทหารได้แจ้งให้ตนไปพบในค่าย แต่ไม่ได้บอกว่าให้ไปอบรม ตนจึงแจ้งไปว่าวันที่ 4-7 เม.ย. ติดภารกิจที่กรุงเทพฯ และขอไปพบวันที่ 8 เม.ย. เช่นเดียวกับนางสิรินทร รามสูตร อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ที่แจ้งว่าติดภารกิจเรื่องลูก ขอไปพบวันที่ 9 เม.ย.

“ธีรยุทธ” ข้องใจ คสช.มีเวลาไม่เร่งทำ

             นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ คสช.ขอเวลา 5 ปีเพื่ออยู่ดูแลสถานการณ์ผ่านกลไกของ ส.ว. ว่าการปฏิรูปไม่ใช่ภารกิจของกองทัพและหากจะวิเคราะห์คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีข้ออ่อนแอเรื่องการปฏิรูป ตอนนี้รัฐบาลมีอำนาจมาก เป็นอำนาจเชิงเดี่ยว ไม่มีการถ่วงดุล หลายอย่างสามารถทำได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำ ดังนั้นจะขอเวลาดูแลอีก 5 ปีไปทำไม ในเมื่อมีอำนาจเต็มที่แต่ไม่จัดการ ประเด็นดังกล่าวมองว่าเป็นการให้เหตุผลที่เป็นข้อขัดแย้ง ไม่สร้างความเชื่อมั่น และเกรงว่าจะนำไปสู่ปัญหาในที่สุด สำหรับกรณีที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. 200 คนและบวกอีก 50 คน อีกทั้งยังอาจเสนอให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯอีก เท่ากับเป็นการเสียสละหลักการประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาที่สำคัญ ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป ช่วง 2 ปีของ คสช.เน้นแต่เรื่องของการจัดระเบียบ แต่กลับไม่ได้ส่งเสริมให้อำนาจประชาชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหา จัดระเบียบการตรวจสอบคอร์รัปชัน หวังว่าเวลาที่เหลือของรัฐบาลนี้ น่าจะทำส่วนที่ยังไม่ได้ทำให้มากขึ้น

ชี้ทหารอยู่ได้เพราะคนกลัววุ่นวาย

             นายธีรยุทธกล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่ขอวิจารณ์ แต่เท่าที่วิเคราะห์พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก-รัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีคะแนนนิยม มองได้ว่าบุคคลยังคงมีความกลัว เบื่อ วิตก ระแวง กับการที่จะเกิดการชุมนุม จึงทำให้กองทัพอาจยังคงอยู่ได้ และเป็นที่น่าแปลกใจ ในส่วนที่เป็นนโยบายที่ทางกองทัพคิดไม่พบเสียงคัดค้าน ทั้งที่การแก้ปัญหาบางอย่าง เป็นการใช้ความรู้สึก กังวลว่าอาจเป็นปัญหาได้ในระยะยาว ส่วนตัวตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ได้ต่อหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ภายใต้กลไก ส.ว.สรรหาหรือนายกฯหรือไม่ เพราะหลักการประชาธิปไตยของคนไทยมีการปรับเปลี่ยน แต่หากวิเคราะห์จากเหตุการณ์ทั่วไป หากเมื่อรัฐบาลมีการทุจริตขนาดใหญ่ กระแสก็อาจตีกลับได้ ตนมองว่าสิ่งที่จะทำให้รัฐบาลทหารอยู่ได้ เพราะความกังวลของคนว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้นอีก

ครม.คลอดแนวทางประเมิน ขรก.

            เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบการประเมินข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2559 โดยผู้รับการประเมิน มี 2 ระดับ 1.ประเมินตัวบุคคลระดับซี 10 ขึ้นไป อธิบดี ปลัด รองปลัด 2.ประเมินหน่วยงาน มีผู้ประเมิน 3 ฝ่าย คือ 1.นายกฯ รองนายกฯ หรือ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2. รมว.หรือ รมช. 3.เลขาธิการ ก.พ.หรือเลขาธิการ ก.พ.ร. โดยเลขาธิการ ก.พ.ประเมินข้าราชการ และเลขาธิการ ก.พ.ร.ประเมินส่วนราชการ ผ่านการรวบรวมข้อมูลจากภาคประชาชน การร้องเรียน รวมกับการประเมินจากนายกฯ รองนายกฯ รมว.และ รมช. เป็นแนวทางนายกฯ ที่ไม่ต้องการกลั่นแกล้งกัน แต่เพื่อประสิทธิภาพงาน และจูงใจให้ขยันทำงาน ส่วนหัวข้อประเมิน 5 เรื่อง คือ งานตามหน้าที่ปกติ งานที่รับผิดชอบ ภารกิจพิเศษที่รับมอบหมาย ความรู้ความสามารถและทักษะ และการเป็นนักบริหารตามแผนยุทธศาสตร์

ยันรัฐหนุนเรียนฟรี 12 ปีตามเดิม

            พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีที่บางคนเข้าใจว่ารัฐลดการสนับสนุนด้านการศึกษาว่า มาตรา 54 ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ชัดเจนว่ารัฐยังคงสนับสนุนการศึกษาเป็นระยะเวลาเท่าเดิม แต่ถือเป็นความท้าทายและภารกิจใหม่ที่จะต้องดูแลเด็กเยาวชนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ไม่ใช่รอจนเข้าประถม 1 เพราะผลการวิจัยระบุตรงกันว่า ช่วงก่อนวัยเรียนเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการสร้างพื้นฐานการศึกษาการพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตใจของเด็ก การไปเริ่มปลูกฝังในช่วงประถมอาจถือว่าช้าไป

เน้นย้ำต้านทุจริต–โตไปไม่โกง

           พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุในที่ประชุม ครม.ให้ข้าราชการน้อมนำยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา และหลักการทรงงาน 23 ข้อ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ดูแลประชาชน และเน้นย้ำว่าปี 2559 เป็นปีแห่งธรรมาภิบาล ขอให้หน่วยราชการนำมาใช้ปฏิบัติ สร้างการรับรู้ว่าประเทศ ไทยไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างจิตสำนึก สอนเยาวชนในโครงการโตไปไม่โกง ขณะเดียวกันการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบปะผู้นำก็ได้เน้นย้ำการไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบของรัฐบาลนี้ หากพบว่ามีการทุจริตสามารถส่งข้อมูลให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์