สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานพิธี ลงนามร่วมมือวิจัยไทย-จีน

UploadImage

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ระหว่างไทย-จีน ...
 

             สืบเนื่องจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสานงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศไทย โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สวทช. และหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ (Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) สังกัดสำนักงานบริหารกิจการทางทะเล (State Oceanic Administration: SOA) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2556


             จากนั้น สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัย คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อไปร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ดำเนินการโดย CAA และทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ เพื่อขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทรงมีพระราชวินิจฉัยให้นักวิทยาศาสตร์จาก 3 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เดินทางไปศึกษาวิจัยร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีนทุกปีนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา


            ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เดินทางไปร่วมศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับคณะสำรวจของจีนแล้วจำนวน 5 คน และอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยอีก 2 คน ไปร่วมกับคณะสำรวจในปี 2560 


             ทั้งนี้ เพื่อสานต่อให้เกิดความร่วมมือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้วโลกระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทยกับสถาบันวิจัยของประเทศจีน สวทช. จึงได้หารือกับหน่วยงาน Polar Research Institute of China (PRIC) ซึ่งสังกัด SOA เช่นเดียวกัน โดย PRIC เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษาวิจัยขั้วโลก (ส่วน CAA รับผิดชอบการสำรวจขั้วโลกและการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง) ว่าควรมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยขั้วโลก ระหว่าง PRIC และสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของไทย ซึ่งทาง PRIC เห็นชอบด้วย


              จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (MOU on Polar Science Research (Under the MOU between CAA-NSTDA) ระหว่าง มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของประเทศไทย จำนวน 4 แห่ง ซึ่งเคยส่งหรือสนใจจะส่งนักวิจัยไปร่วมคณะสำรวจขั้วโลกใต้กับ CAA ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สวทช. ในฐานะหน่วยงานประสานงาน กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China) โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือคือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้าน ชีววิทยาทางทะเล (Marine Biology) สมุทรศาสตร์ (Oceanography) ธรณีฟิสิกส์ (Geophysics) และธรณีเคมี (Geochemistry) โดยมีขอบเขตของความร่วมมือ ดังนี้

1. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก
2. แลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษา รวมถึงการให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน
3. ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกัน อาทิ การประชุมวิชาการ การจัดทำโครงการวิจัยร่วมกัน เป็นต้น
4. แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. สนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อการประสานความร่วมมืออันดี


           ทั้งนี้ สวทช. ได้จัดส่งบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ไปยังสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยของไทยที่เป็นผู้ร่วมลงนามทั้ง 4 หน่วยงานเพื่อพิจารณาลงนามก่อน จากนั้น สวทช.จะเป็นตัวแทนในการร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจกับ PRIC ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 6 เมษายน 2559 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์