สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ยูเนสโก ชี้งบฯ รายจ่ายด้านการศึกษาแต่ละประเทศ สูงถึง 3-10% ต่อ GDP

             ยูเนสโกยก “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ” เครื่องมือ “ลงทุนการศึกษา” ที่มีประสิทธิภาพ ชี้ได้ตรงเป้า ประเทศไทยและประเทศสมาชิกเดินหน้าสรุปองค์ความรู้ ก่อนขยายผล 200 ปท.

Pic01 Dr.Kraiyos1


             ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงความก้าวหน้าในการประชุมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่องบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก สถาบันเพื่อการวางแผนการศึกษานานาชาติแห่งองค์การยูเนสโก และกองทุนการศึกษาโลก ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2559 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า “ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนที่ประเทศเข้าร่วมโครงการทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม เนปาล ลาว ยูกันดา กินี ซิมบับเว เซเนกัล และ โกตดิวัวร์ จะสรุปความก้าวหน้าของมาตรฐานรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้องค์การยูเนสโกนำไปเผยแพร่แก่ประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกทั้ง 200 ประเทศ และเพื่อสนับสนุนการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาในประเทศตน โดยสสค.และรศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ ได้รับเชิญเข้าร่วมในฐานะหน่วยงานภาคีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้วย เพื่อช่วยให้ประสบการณ์และข้อมูลสนับสนุนในส่วนของประเทศไทย”


              นางซูซาน แกรนต์ เลวิส ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวางแผนการศึกษานานาชาติแห่งองค์การยูเนสโก (IIEP)  กล่าวว่า ทุกประเทศต่างต้องการภาพที่ชัดเจนของระบบการศึกษาของตนเพื่อที่จะวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมีมาตรฐานทางวิชาการ โดยเฉพาะข้อมูลงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 3-10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไปสู่จุดสร้างคุณภาพการเรียนรู้สูงสุด


            "การบันทึกข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาด้วยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการสนับสนุนการตัดสินใจในการลงทุนด้านการศึกษาของรัฐบาล และเป็นวิธีการที่ทุกประเทศทั่วโลกควรดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันในอนาคต”  


           ขณะที่นางซิลเวีย มอนโตย่า ผู้อำนวยการสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) กล่าวว่า ประเทศต่างๆจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้านการศึกษา (SDG 4) ในปี 2030 ภายใน 15 ปีได้ หากขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณและทรัพยากรด้านการศึกษาที่ถูกนำไปใช้ในแต่ละปี


           "ทุกวันนี้ยังมีประเทศจำนวนมากที่ไม่สามารถนำส่งข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาให้แก่ องค์การยูเนสโกได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานระดับนานาชาติ บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาจะช่วยให้แต่ละประเทศมีเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรายงานข้อมูลให้แก่องค์การยูเนสโกได้ทุกปีด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก”  


            นางสาวราฟาเอล มาติเนซ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนการศึกษาโลก (GPE) กล่าวว่า กองทุนการศึกษาโลกสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์การยูเนสโกเพื่อจัดทำมาตรฐานบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาโลก เพราะเป็นองค์ความรู้สาธารณะของโลก (Global Public Goods) ที่สำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการศึกษาโลกปี 2030 ต่อไป


ที่มา : สำนักข่าวอิศรา