สอบเข้ามหาวิทยาลัย

MoU ด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลไทยและสหราชอาณาจักร

             ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร กับนายมาร์ก เคนต์ (H.E. Mr. Mark Kent) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2559 ณ ห้องรับรองจันทรเกษม โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พ.อ.รัตนะโชติ อ่างทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารองค์กรหลัก, ผู้แทนจากบริติช เคานซิล (ประเทศไทย) เข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้

 

               พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาอย่างยาวนาน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองประเทศผูกพันกันคือการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และที่ผ่านมามีความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนบุคลากรในสถาบันการศึกษาทุกระดับ นอกจากนี้ บริติช เคานซิล (ประเทศไทย) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษา ฝึกอบรมครูอาจารย์ และยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถานศึกษาทุกระดับอย่างต่อเนื่อง


               การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้มี ประเด็นหลัก คือ 1) เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษและยุทธศาสตร์ของไทยในด้านดังกล่าว 2) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในขอบข่ายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM Education) 3) เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาชีวศึกษา สร้างลักษณะเฉพาะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในอนาคต


               - ด้านความร่วมมือการส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษ  เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงความรู้ ข้อมูล และการพัฒนาต่าง ๆ ได้ในยุคโลกาภิวัตน์ สำหรับประเทศไทยที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ โดยทั้งสองประเทศจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน, การอบรมครูภาษาอังกฤษ, พัฒนาสื่อการสอน, การประเมินผล รวมทั้งคุณภาพของแบบทดสอบ

 
             - ด้านความร่วมมือด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education)  โดยจะร่วมมือในการพัฒนาสะเต็มศึกษา ทั้งในด้านนโยบาย, การพัฒนาครู ตลอดจนหลักสูตร และสื่อการสอน

 
              - ด้านความร่วมมืออาชีวศึกษา สร้างลักษณะเฉพาะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในอนาคต ผ่านการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนสำหรับการอาชีวศึกษาไทย และการศึกษาตลอดชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญด้านวิชาชีพและอาชีวศึกษา โดยให้ความสำคัญกับหลักสูตรและการอบรมครู


              ขอขอบคุณรัฐบาลและเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย และขออวยพรให้เอกอัครราชทูตฯ ประสบความสำเร็จต่อการดำเนินงานด้านต่างๆ ในอนาคต ภายหลังจากอำลาตำแหน่งที่ประเทศไทยไปแล้ว

 

               นายมาร์ก เคนต์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร มีความยินดีที่ได้มาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาในครั้งนี้  และขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ช่วยดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ตลอดจนผู้แทนของบริติช เคานซิล (ประเทศไทย) ที่ดูแลด้านการศึกษาและวัฒนธรรมด้วย


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ


ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี