สอบเข้ามหาวิทยาลัย

10 งานด่วนภายใน6เดือนที่'รมต.ศธ.'ควรทำ

 UploadImage

            ฝากถึง “สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย”(ส.ค.ศ.ท.) ยุคที่มี “ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ” เป็นประธาน ส.ค.ศ.ท. ช่วยเรียงลำดับสิ่งที่ต้องทำ อย่าปล่อยให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการตกอยู่ในวังวน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่หมกมุ่น หรือวุ่นอยู่กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เรื่องโยกย้าย แต่งตั้ง บรรจุ และเลื่อนวิทยฐานะ แบบไม่เลิกรา....

             ไม่รู้จะหันหน้าไปร้องเรียนกับใคร ผมเชื่อว่าเปิดมา หลังสงกรานต์ พวกที่จะลุยพัฒนาการศึกษาไทยก็จะลุยต่อ คงจะมีการให้สัมภาษณ์/เกริ่นรายวันต่อไป โดยไม่มีทิศทางระยะยาว (เพราะคนกลุ่มนี้ คงอยู่สั้นๆ อายุมากกันแล้ว เช่นเดียวกับผม) ได้แต่ฝากสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) จัดทำลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำด่วนภายใน 6 เดือนนี้ เช่น

             1.การปรับหลักสูตร ป.1-ป.3 อาจเรียนแค่ (1) ภาษา (1) คณิตศาสตร์ และ (3) วิทยาศาสตร์และทักษะชีวิต 2.ประกาศระบบประกันคุณภาพการ “อ่านออก อ่านคล่อง และอ่านเก่ง” เมื่อเรียนจบชั้น ป.1-ป.2 และ ป.3 ตามลำดับ โดยมีการตรวจแบบ 100% เมื่อสิ้นปี 2559 ถ้าโรงเรียนใดมีเด็ก ป.2 อ่านไม่ออก ให้สำรองราชการ ผอ.โรงเรียน ถ้าเขตนั้นๆ มีสำรองราชการเกิน 5 โรง ให้สำรองราชการ ผู้อำนวยการเขต (ผอ.เขต)/ศึกษาธิการจังหวัด (ศธ.จ.) ศึกษาธิการภาค (ศธ.ภ.) ถ้าผอ.เขตถูกสำรองราชการเกิน 10 เขต ให้สำรองราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ตามลำดับ...ถ้าทำตรงนี้ได้ ปัญหาเด็กตกซ้ำชั้นตั้งแต่ ป.3 ขึ้นไป คงไม่มี และไม่ต้องพูดถึงอีกต่อไป (อ้อ..ยกเว้นเด็กที่มีปัญหาทางสมอง หรือ แอลดี)

             3.ประกาศยกเลิกการกำหนดโครงการจากส่วนกลาง สำนักใดแจ้งโครงการไปที่เขตพื้นที่ให้ “สำรองราชการ ผอ.สำนัก” ทันที...งบประมาณมีเท่าไหร่โอนลงเขตพื้นที่และสถานศึกษาทั้งหมด (คงหลายพันล้าน...ถ้าโอนช้าเกินเดือนพฤษภาคม ให้สำรองราชการผอ.กองคลัง และเลขาธิการ กพฐ.)

             4.จัดการเรื่องอัตราทดแทนเกษียณปี 2558-2559 ให้เรียกรายงานตัวภายใน 1 ตุลาคม 2559 สำหรับทดแทนอัตราเกษียณ 30 กันยายน 2559 (ปล่อยให้ว่างเพียง 12 ชั่วโมง) หากทำไม่ได้ ให้สำรองราชการเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) พร้อมเลขาธิการ กพฐ.และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัดศธ.)

             5.จัดสรรอัตราครูให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 คน สำหรับโรงเรียนที่มีเด็กเกิน 60 คน 6.ซื้อรถตู้ (งบประมาณที่เหลือจากการทำโครงการของส่วนกลาง) ให้โรงเรียนที่มีน้อย ตำบลละ 1 คัน เพื่อตระเวนรับเด็กไปเรียนแบบรวมศูนย์ ณ โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งในตำบลนั้นๆ

             7.กำหนดสมรรถนะเด็กไทย เฉพาะตัวสำคัญๆ เช่น “ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และรับผิดชอบ” เอาแค่ 4 ตัวนี้ โดยประชาพิจารณ์ให้เห็นตรงกัน หรือเข้าใจตรงกันทั้งประเทศ ก่อนจัดทำหลักสูตร 8.ปรับปรุงหลักสูตรทั้งระบบ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงอุดมศึกษา (อุดมศึกษาก็วิกฤติมาก จุฬาฯ และมหิดล ถอยไปติดคุณภาพโลก ลำดับที่ 253 และ 295 ตามลำดับ)

             9.ปฏิรูประบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวทำลายคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน..ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเน้น Content-based Learning 10.ปฏิรูปกระบวนการผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา เรื่องนี้เร่งด่วนพอๆ กับรายการที่ 1-2 ตราบใดยังผลิตครูแบบเดิมๆ สมรรถนะไม่เข้มข้น ยากมากที่คุณภาพผู้สอนหรือคุณภาพการเรียนการสอนในยุคต่อไปจะฟื้นตัว

             ฝาก ส.ค.ศ.ท.ลองดูนะครับ อาจจะต้องนั่งถกเถียงกัน รายการไหนมาก่อน-หลัง จะอย่างไร คิดว่าต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2559 เพราะอย่างไรก็ตาม “รัฐมนตรีศึกษา” ก็มีอำนาจอยู่ในมือ ควรใช้มาตรา 44 แบบมีคุณค่าต่อประเทศไทย ส.ค.ศ.ท.ให้ความเห็นทางวิชาการได้เท่านั้นครับ แต่จะเป็นผลหรือไม่ ผู้มีอำนาจเท่านั้น จะสั่งได้รายวัน


ที่มา : คมชัดลึก