สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เด็กไม่สนเรียนวิทย์แถมออกกลางคันเพียบ มธ. - สพฐ. - สสวท.เร่งผลิตบัณฑิตวิทย์

UploadImage


                มธ.จับมือ สพฐ.-สสวท.ผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ ขณะที่ “สมคิด”เผยปี 60 มธ.เปิดสาขาวิทยาศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หวังขึ้นแท่นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จากข้อมูล สสวท. ระบุว่าในแต่ละปีผลิตบุคลากรด้านวิทย์ ได้แค่ 8 คนต่อประชากร 10,000 คน 
             วันนี้(19 ม.ค.) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ได้มีการแถลงความร่วมมือยกระดับความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์สู่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)และ มธ. โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบภาวการณ์ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยตลอด 81 ปีที่ผ่านมา มธ. ได้ช่วยพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และนายบุญชู ตรีทอง อดีต รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย และ รมช.คลัง ผลักดันให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์ลำปาง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของภาคเหนือ  และในปี 2560 จะเปิดสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือที่ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนารากฐานความเจริญของประเทศต่อไป   
            “จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ในปี 2557 พบว่าสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรการสอนในกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ มีจำนวน 139 แห่ง จากจำนวนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 169 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 82% อีกทั้งจากข้อมูลของ สสวท. ระบุว่าในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ได้เพียง 8 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่สังคมยังคงมีความต้องการบุคลากรในด้านนี้สูงกว่า 10% ของจำนวนประชากรไทยในวัยแรงงาน”
           ศ.ดร.สมคิด  กล่าว  ด้านรศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศน้อยลงมาก  แต่ละปีมีผู้สนใจเข้าเรียน20 -27 % ของจำนวนรับ  และพบว่า 20 % ไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องย้ายไปเรียนคณะอื่นหรือออกกลางคัน เช่น สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทย์ฯ มธ. ศูนย์ลำปาง รับนักศึกษา 30 คน มีเด็กมาสมัครเพียง 10 คน ขณะนี้เหลือเด็กเรียนอยู่เพียง 1 คน เป็นต้น  หวังว่าการมอบทุนวิทยาศาสตร์ 17 จังหวัดภาคเหนือ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น  โดยนายบุญชู  จะให้ทุนปีละ 40 ทุน และเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง หากเด็กเรียนแล้วผลการเรียนเฉลี่ยดีมากตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด พร้อมเปิดให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาที่สนใจด้วย

ที่มา http://www.dailynews.co.th/education/374203

ภาพประกอบจาก-bornscientist.com