หน้าแรก บัญชี ข่าว/บทความ

ภาษีที่เราจ่ายมีอะไรบ้าง? จ่ายแล้วไปไหน? เรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องอยากรู้

วันที่เวลาโพส 27 กุมภาพันธ์ 61 14:06 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

อย่างที่วิชาหน้าที่พลเมืองสอนเรามาตั้งแต่ม.ต้น หรือน้องๆ หลายคนอาจได้ยินได้รู้จักกับคำว่า "ภาษี" กันมาจากผู้ใหญ่รอบตัว แล้วตอนนี้น้องๆ รู้ไหว่าประเทศไทยมีภาษีอะไรบ้าง? จ่ายแล้วไปไหน? ใครต้องจ่าย? ถ้าอยากรู้ ตามมาอ่านบทความนี้ได้เลย

ภาษีที่เราต้องจ่าย มีอะไรบ้าง?
การจำแนกประเภทของภาษีอากรจะแตกต่างกันไปตามเกณฑ์ที่ใช้ และเกณฑ์ที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราเกี่ยวข้องและต้องรู้โดยตรงคือ การจำแนกด้วยหลักการผลักภาระภาษี โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ "ภาษีทางตรง" คือผู้เสียภาษีจ่ายเอง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) และ  "ภาษีทางอ้อม" คือเก็บจากบุคคลอื่น แต่ผู้เสียภาษีต้องรับภาระในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ, ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ภาษีสินค้าเข้า-ออก ฯลฯ) 


สำหรับ ปีงบประมาณ 2561 มีการประมาณการว่า รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรสุทธิได้ราว 2.23 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่ง แหล่งภาษีใหญ่ๆ ของประเทศไทยมาจาก 3 แหล่ง ดังนี้ 

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีผู้เสียภาษีอยู่เพียง 4 ล้านคน (จากผู้ยื่นแบบทั้งหมด 10 ล้านคน) รวมเป็นเงิน 3.32 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 15% ของภาษีทั้งหมด

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เก็บจากบริษัทต่างๆ ราว 1.5 แสนแห่ง ประมาณกันว่าจะมีรวมกันราว 6.51 แสนล้านบาท คิดเป็น 29% ของภาษีทั้งหมด

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือที่มักเรียกกันว่า VAT (value-added tax)โดยผู้เสียภาษีชนิดนี้ก็คือ ‘ทุกคน’ ที่ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าต่างๆ เพราะจะมีการบวก VAT ไว้ในราคาขายแล้ว คิดเป็นเงินรวมกันราว 8.21 แสนล้านบาท หรือ 37% ของภาษีทั้งหมด

ส่วนที่เหลืออีก 19% คิดเป็นเงินกว่า 4.26 แสนล้านบาท จะมาจากภาษีอากรประเภทอื่นๆ อีกกว่า 10 ประเภท เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีสินค้าเข้า-ออก เป็นต้น


ภาษี จ่ายแล้วไปไหน?
ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 (ระหว่างเดือน ต.ค.2560 – เดือน ก.ย.2561) ได้กำหนดงบประมาณของรัฐบาลไว้ที่ 2,900,000 ล้านบาท สำหรับคนทั่วไปอ่านรายการใช้จ่ายงบด้านบนก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร (แม้แต่เราเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก) อย่ากระนั้นเลย ถ้าแยกเป็น ลักษณะงาน เด่นๆ น่าจะทำให้เข้าใจกับง่ายขึ้นเนอะ

งบการศึกษา = 523,569 ล้านบาท

งบสวัสดิการผู้สูงอายุ = 258,593 ล้านบาท

งบกองทัพ = 214,591 ล้านบาท

งบการขนส่ง = 202,453 ล้านบาท

งบสาธารณสุขอื่น (ซึ่งรวมถึงบัตรทอง) = 167,449 ล้านบาท

งบโรงพยาบาล = 125,394 ล้านบาท

งบตำรวจ = 118,230 ล้านบาท
 (ที่เหลือคืองบในลักษณะงานอื่นๆ) 



หากแยกเป็นงบตามประเภทที่จ่ายๆ ที่โดดเด่นที่สุดคือเงินเดือนข้าราชการและค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่รัฐ = 626,181 ล้านบาท คิดเป็น 22% มากกว่างบลงทุน = 492,439 ล้านบาท ที่คิดเป็น 16%  

ถ้าหากแบ่งเป็นกระทรวง กระทรวงที่ได้งบสูงสุด 5 ลำดับแรกจะประกอบด้วย  1.กระทรวงศึกษาธิการ 507,947 ล้านบาท (17.5%) 2.งบกลาง 415,583 ล้านบาท (14.3%) 3.กระทรวงมหาดไทย 354,303 ล้านบาท (12.2%) 4.กระทรวงการคลัง 238,241 ล้านบาท (8.2%) และ 5.กระทรวงกลาโหม 220,523 ล้านบาท (7.6%)

และถ้าแยกรายจังหวัด จังหวัดที่ได้งบสูงสุด 5 ลำดับแรกจะประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 1,758,500 ล้านบาท (คิดเป็น 60.2%) 2.ส่วนกลาง 413,083 ล้านบาท (14.2%) 3.นนทบุรี 189,413 ล้านบาท (6.5%) 4.นครปฐม 32,306 ล้านบาท (1.1%) และ 5.เชียงใหม่ 24,953 ล้านบาท (0.86%)



ที่มา :
thematter.co
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด