สอบเข้ามหาวิทยาลัย

แปลงร่าง!! ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคลธรรมดา

UploadImage
ภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับปี 2560 ก่อนที่จะยื่นรายการภาษี วันนี้เรามารู้จัก “ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคลธรรมดา” รู้จักก่อนจะเสียสิทธิประโยชน์ของตัวเอง

ค่าลดหย่อนคือ รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 
โดยค่าลดหย่อนแต่ละประเภทนั้น หลังจากที่เรานำมรายได้มาหักค่าใช้จ่ายในอัตรา 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาทแล้ว สามารถหักค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้ครับ
 
- ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท คือ ค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ สามารถใช้สิทธิอย่างไม่มีเงื่อนไข
 

ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท ซึ่งเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกัน เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มอีกจำนวน 60,000 บาท โดยจะต้องเป็นไปตาม 2 เงื่อนไขที่กำหนดดังนี้
          1. คู่สมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส
          2. คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ในระหว่างปี หรือมีแต่เลือกที่จะนำมารวมคำนวณภาษี 
 

ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท และ ไม่จำกัดจำนวน คำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม อายุไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
 

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง ในจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทครับ
 

ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สูงสุด 120,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท ซึ่งส่วนนี้จะหมายความรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของคู่สมรส (ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้) แต่มีเงื่อนไข จะต้องออกหนังสือรับรองว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และลูกจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
 

เบี้ยประกันชีวิต มี 2 ประเภท คือ
          1. ประกันชีวิต (แบบทั่วไป) ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท 
          2. ประกันชีวิต (แบบบำนาญ) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท 
โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้นในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ
 

ค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ 60,000 บาท หากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีครับ
 

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อ สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันนี้สามารถหารกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ 
 

เงินสมทบ กบข. และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 500,000 บาท เงินสมทบกบข. (สำหรับข้าราชการ) และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับเอกชน) สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
 

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ไว้สำหรับวางแผนเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทน มีเงื่อนไขผลรวมของ RMF+กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ+ประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทน
 

ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท เงินประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน และมีความคุ้มครองแบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อยๆ เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ฯลฯ โดยเพดานสูงสุดของเงินได้ที่จะนำมาคำนวณก็คือ 15,000 บาท นั่นหมายความว่า เราจะสามารถนำเงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 9,000 บาทต่อปี 
 

ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องเป็นค่าโรงแรมและค่าที่พักสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม – 31 ธันวาคม 2559 (สำหรับการยื่นแบบปี 2560)
 

เงินบริจาค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
          1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
          2. เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่นๆทั้งหมดแล้ว
 



ข้อมูลจาก : Aommoney , กรมสรรพากร