สอบเข้ามหาวิทยาลัย

​"วิศวะอินเตอร์ ลาดกระบัง" 4 หลักสูตร 7 แขนงวิชา


การกลับมาอีกครั้งของงาน “วิศวะ’61” Engineering Expo 2018 ปีนี้มาในธีม “Business Transformation” ถอดรหัส…ความสำเร็จให้ธุรกิจในยุคดิจิตอล ในงานมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ที่น่าสนใจมาก ๆ เลยก็คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ถือโอกาสเปิดตัวหลักสูตรอินเตอร์ 4 หลักสูตร 7 แขนงวิชาในงานนี้ด้วย

พี่ ๆ ทีมงาน Admission Premium ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถึงงาน Engineering Expo ในปีนี้ ว่ามีจุดเด่นและมีอะไรน่าสนใจบ้าง



“สิ่งที่พิเศษของปีนี้ก็คือ ลาดกระบังถือโอกาสเปิดตัวหลักสูตรอินเตอร์ทั้งหมด ที่รับนโยบายจากทางภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมเพื่อที่จะขับเคลื่อน และสร้างคนไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาติ วิศวะฯลาดกระบังเปิดหลักสูตรอินเตอร์ทั้งสิ้น 13 โปรแกรม เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของ S-curve หรือ New S-curve เพื่อที่จะขับเคลื่อนในส่วนที่เป็น Eastern economic corridor หรือEEC ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0”

หลักสูตรอินเตอร์เริ่มต้นเรามี 6 หลักสูตร หลักสูตรใหม่อีก 7 โปรแกรม จะทำให้วิศวะฯลาดกระบังมี Channel ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ หลักสูตร Bilingual ต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรอินเตอร์ ตอบโจทย์แนวโน้มในการผลิตบุคลากรในอนาคตทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจุดนี้เป็นจุดที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศว่าคนไทยจะมีบุคลากรที่จะสามารถรองรับ Hi Technology

รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า โจทย์ที่ทางภาครัฐ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม มอบให้กับทาง สจล. วิศวะฯลาดกระบังต้องผลิตบุคลากรที่มีทักษะ ที่มี culture ที่สามารถทำงานร่วมกับ platform international  อื่น ๆ  ชาติอื่น ๆ รูปแบบการทำงาน ลักษณะ skill ที่เราจะใช้สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่จะสามารถทำงานได้ใน platform ที่มันเป็น Hi Technology นี่เป็นโจทย์รวม ๆ ที่วิศวะลาดกระบังที่จะต้องผลิตบุคลากรให้ได้ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ  

นอกจากนี้พี่ ๆ ทีมงานยังได้พูดคุยกับประธานหลักสูตรอินเตอร์ 4 หลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ที่เพิ่งเปิดตัว อย่าง ผศ.ดร.เอกพจน์ ตันตนาภิวัฒน์ ประธานหลักสูตร Mechanical Engineering ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ รุ่นพระแสง ประธานหลักสูตร Energy Engineering ดร.นัทธพงศ์ จึงธีรพานิช ประธานหลักสูตร Financial Engineering และผศ.ดร.วรวรรธน์ นาคะวิโร ประธานหลักสูตร Electrical Engineering ถึงข้อมูลหลักสูตร แนวทางการเข้าศึกษา รวมไปถึงโอกาสการทำงานในอนาคตอีกด้วย มาดูกันว่าแต่ละหลักสูตรมีอะไรน่าสนใจบ้าง


 
วิศวกรรมเครื่องกล เรียนเกี่ยวกับอะไร

หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลนานาชาติที่กำลังจะเปิด ได้สอดแทรกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ถ้าดูจากรายวิชาแล้วก็เนื้อหา คำอธิบายรายวิชา นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนโค้ด วิธีใช้โปรแกรม หรือว่าซอฟแวร์ทันสมัยมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรม

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ

ในภาพรวมของโปรแกรมที่กำลังจะเปิดในปีหน้า คุณสมบัติหลัก ๆ ก็คือ ต้องเป็นคนที่มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะจบมาจากหลักสูตรอินเตอร์ก็ได้ หรือหลักสูตรภาษาไทยก็ได้
สำหรับหลักสูตรอินเตอร์ แน่นอนว่าน้อง ๆ ก็อาจะมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษที่ดีอยู่แล้ว เราก็จะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ย Transcript ของน้อง ๆ
สำหรับน้องที่เรียนในหลักสูตรปกติ แล้วก็อยากจะอัพเกรด อยากจะพัฒนาภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรม หลักสูตรก็เปิดโอกาสให้ โดยอาจต้องยื่นผลคะแนนภาษาอังกฤษ ถ้าเกณฑ์ภาษาอังกฤษไม่ดีพอก็ไม่ใช่ว่าจะเรียนไม่ได้ เรายังเปิดโอกาสให้ เพียงแต่น้อง ๆ ต้องเข้ามา Take course วิชาภาษาอังกฤษในระหว่างที่เรียนระดับชั้นปี 1 ก็จะสามารถฟื้นฟู และพัฒนาความรู้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการเรียนด้านวิศวกรรมได้เช่นเดียวกัน


 
วิศวกรรมพลังงาน เรียนเกี่ยวกับอะไร

หลักสูตรเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิชาทางวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ หรือแม้แต่การบริหารการจัดการ เพื่อใช้ในการบริหารงานที่เกี่ยวกับงานพลังงานในประเทศ ในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การผลิตพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เรียนหลักสูตรอินเตอร์แตกต่างกับหลักสูตรไทยอย่างไร

หลักสูตรที่เป็นอินเตอร์จะเน้นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ของวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ อย่างลงตัว เราจะไม่เน้นไปทางเครื่องกลแท้ หรือเน้นไปทางไฟฟ้าแท้ ๆ แต่เราสามารถนำเอาศาสตร์ทุกศาสตร์มารวมกันได้ โดยที่ไม่อยู่ในข้อจำกัดของสภาวิศวกร นั้นก็คือเราสามารถพึงประดิษฐกรรมด้านพลังงานให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม  หรือแม้แต่ภาคราชการ หรือเอกชนอื่นๆได้อย่างแท้จริง ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นอินเตอร์เรามีโอกาสสามารถทำงานในต่างประเทศได้ การฝึกฝน การสื่อสารในภาษาอังกฤษ จะทำให้วิศวกรพลังงานของเราสามารถทำงาน ได้ทั่วโลก แล้วก็มีโอกาสการศึกษาต่อที่อื่นในโลกได้เช่นกัน

ค้นหาตัวเองอย่างไรว่าเหมาะกับเราไหม

ถ้าจะเรียนหลักสูตรทางด้านนานาชาติ อันดับแรกเลยก็คือ ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็คือความชอบ  และความถนัดของตัวเอง อย่างแรกเลยคือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือแม้แต่การบริหารจัดการอื่นๆ ถ้ามี 3 สิ่งนี้ ก็พร้อมที่จะเรียนในสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานแล้ว
 


วิศวกรรมการเงิน 4+1 ปริญญาตรี ควบโท

หลักสูตรปริญญาตรี ควบโททางด้านวิศวกรรมการเงิน เป็นหลักสูตรที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ร่วมมือกับคณะพัฒนาการเศรษฐกิจของทางนิด้า เป็นหลักสูตร 5 ปี เมื่อเรียนจบ 4 ปีแรกจะได้รับปริญญาวิศวกรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน จากทาง สจล. และเมื่อเรียนจบปีที่ 5 จะได้ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต จากทางนิด้า วิศวะฯลาดกระบัง กับทางคณะพัฒนาการเศรษฐกิจของนิด้า จะร่วมกันสอนตั้งแต่ปี 1 คือเด็กจะได้เรียนทั้งที่ลาดกระบัง แล้วก็ได้เรียนทั้งที่นิด้าทุกๆสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 1 ถึงปีที่ 5 เลย

โอกาสที่มากกว่าเมื่อจบหลักสูตรนี้

งานด้านวิศวกรรมการเงินตอนนี้มีเยอะมาก แล้วก็ทางอุตสาหกรรมเองก็ขาดคนมาก ปัจจุบันเรามีคนที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ ทางด้านการเงินไม่น้อย แต่ว่ายังขาดทักษะทางด้านการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเงิน ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทางด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมันมีเทคโนโลยี FinTech ที่เข้ามามีบทบาทมากในอุตสาหกรรมการเงินของบ้านเรา แล้วเรายังขาดคนที่เชี่ยวชาญชำนาญการทางด้านนี้

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ

ผู้ที่จะสมัครเข้ามาในหลักสูตรนี้จะต้องมีพื้นฐานที่สำคัญก็คือ คณิตศาสตร์ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนการเงิน แล้วก็เป็นพื้นฐานสำคัญของเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์ด้วย นอกจากนี้ก็ต้องมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ขั้นตอนการสมัคร

พิจารณาง่ายๆ คือ ต้องยื่นคะแนนสอบมาตรฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น SAT, A level โดยเราจะดูเฉพาะคะแนนคณิตศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของภาษาอังกฤษ สามารถยื่นคะแนนสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษที่เป็นที่นิยมได้ เช่น TOEFL IELTS หรือCU-TEP การสมัครสามารถสมัครโดยตรงกับทาง สจล. ได้เลย
 

จุดเด่นที่แตกต่างวิศวกรรมไฟฟ้า อินเตอร์

มี 4 หลักสูตร ประกอบด้วยวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง เริ่มตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งจ่ายไฟฟ้า จนนำไฟฟ้ามาส่งให้ผู้บริโภค อันนี้เป็นลักษณะแขนงของวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง
อีกหลักสูตรก็คือวิศวะฯเรื่องของการสื่อสารแล้วก็เรื่องของข้อมูล อันนี้บริหารจัดการโดยภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม หลักสูตรนี้จะเรียนเกี่ยวกับการสื่อสารทุกชนิด การสื่อสารผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง ผ่านดาวเทียมต่าง ๆ รวมถึงการประมวลผลทางด้านสัญญาณ ซึ่งอยู่ในความดูแลของภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม
หลักสูตรต่อมาของเราก็คือวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือเป็นพวกวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่น้อง ๆ ได้เห็นในเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์อะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใน

หลักสูตรสุดท้าย หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์เป็นที่บูรณาการระหว่างศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมเครื่องกล เราจะใช้วิศวกรรมไฟฟ้าเข้าไปควบคุมระบบอัตโนมัติ พวกแขนกลต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นการใช้ไฟฟ้าไปใช้ในระบบทางกล พวกหุ่นยนต์ลักษณะนี้ รวมถึงเรื่องของปัญญาประดิษฐ์เข้าไปเพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานแล้วมีความฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์ นี้คือโดยภาพรวมของเราใน 4 หลักสูตร

โอกาสที่มากกว่าเมื่อจบหลักสูตรนี้

นักศึกษาของเราถูกเทรนมาด้วยการใช้ภาษาอังกฤษตลอดในทั้งหมด 4 ปี ทางหลักสูตรจึงได้วางแผนให้นักศึกษาได้เรียนกับคณาจารย์ต่างชาติได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น วิชาพื้นฐานเราจะให้อาจารย์ชาวต่างชาติสอนเป็นหลัก

ด้านโอกาสการทำงาน เราให้นักศึกษาได้ออกไปทำโครงการสหกิจศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม หรือให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานในต่างประเทศได้ นี่ก็จะเป็นการส่งเสริมโอกาสให้นักศึกษามีโอกาสได้เข้าไปทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น

หลักสูตรของเราให้นักศึกษาได้ทำโปรเจค และมีการนำเสนอโครงงานตั้งแต่ชั้นปีต้น ๆ นักศึกษาจะได้นำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาแสดงให้เห็น เพื่อเป็นการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่ามีโอกาสหางานทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
 
 ข้อมูลเพิ่มเติม 

    - รับตรง คณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ปีการศึกษา 2562