หน้าแรก เรียนวิศวกรรมศาสตร์ อาชีพในอนาคต

แนะเทรนด์ 7 สาขาวิศวกรรมศาสตร์แห่งอนาคต

วันที่เวลาโพส 21 กันยายน 62 20:49 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
บทความนี้เรามีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากน้องๆ กันอีกเช่นเคย และสำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจและชอบสายอาชีพทางด้านวิศวะ อยากรู้ว่าแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เราสนใจเรียนและทำงานนั้น มีโอกาสดีมากน้อยแค่ไหน สาขาไหนจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ดาวรุ่งแห่งโลกอนาคต มาสำรวจเทรนด์ 7 สาขาวิศวกรรมศาสตร์แห่งอนาคต ไปพร้อมๆ กันที่นี่เลยยย



1. วิศวกรรมซอฟต์แวร์
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ถือเป็นสาขาต้น ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างสูง และดูเหมือนว่าเทรนด์อาชีพนี้จะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ซึ่งเป็นสาขาย่อยเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่หรือ “บิ๊กดาต๊า” กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดไทยและตลาดโลก ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรม E-commerce อุตสาหกรรมสุขภาพ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเงิน และอีกหนึ่งสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่กำลังเป็นที่ต้องการก็คือ “การเรียนรู้ของเครื่อง” (Machine Learning) ซึ่งเป็นศาสตร์การคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ในตลาดบ้านเราเอง จากรายงานของ EIC ระบุว่า  ประเทศไทยมีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลกว่า 2,000 คน ขณะที่คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลกลับมีแค่ 200 – 400 คน เท่านั้น และในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 15 – 20 %

สายงานที่เกี่ยวข้อง : นักเขียนโปรแกรม (Programmer/Developer) , วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) , นักวิเคราะห์ระบบหรือนักออกแบบระบบ (System Analyst / Designer) , วิศวกรความต้องการ (Requirement Engineer) , นักประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ (Software Quality Assurance) , วิศวกรปรับปรุงกระบวนการซอฟต์แวร์ (Software Process Improvement Engineer) , นักทดสอบระบบ (Software Tester) , สถาปนิกซอฟต์แวร์ (Software Architect) , นักบูรณาการระบบ (System Integrator)

2. วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์
หลาย ๆ อุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและโลจิสติกส์ ทำให้คนที่จบสาขาวิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์เป็นที่ต้องการของตลาดตามไปด้วย นักวิศวกรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในปัจจุบัน จะทำหน้าที่ออกแบบ ทดสอบ และพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นแล้วสาขาวิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงเป็นอีกสาขาที่กำลังมาแรง

สายงานที่เกี่ยวข้อง : วิศวกรในสถาบันการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ , นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. วิศวกรรมชีวการแพทย์
วิศวกรรมชีวการแพทย์ถือเป็นสาขามาแรงและน่าจับตามองในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ก้าวไกลไปมาก รวมถึงการคิดค้นการสร้างอวัยวะเทียม และอุปกรณ์การแพทย์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยสูงสุดที่สุด ซึ่งหน้าที่ทั้งหมดนี้ เป็นงานของนักวิศวกรชีวการแพทย์ ความต้องการของตลาดแรงงานต่อสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้นจะถูกผลักดันโดยการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งต้องการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และตอบสนองต่อการความต้องการของผู้สูงอายุและผู้ป่วย ปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาเงินเดือนเฉลี่ยของวิศวกรชีวการแพทย์สูงถึง 86,800 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณสองล้านหกแสนบาท) มีอัตราการเติบโตของอาชีพแต่ละปีสูงถึง 8 %

สายงานที่เกี่ยวข้อง : วิศวกรชีวการแพทย์/วิศวกรคลินิคประจำโรงพยาบาล/วิศวกรอีเล็กทรอนิกส์ , นักวิจัยทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ , วิศวกร เพื่อผลิต ขาย ซ่อมบำรุง ติดตั้ง วิจัย และพัฒนา , ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ , ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ , ผู้วัดมาตรฐานวิศวกรรมชีวการแพทย์ , ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทางด้านการจำหน่าย การให้บริการ หรือการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านเครื่องมือแพทย์

4. วิศวกรรมปิโตรเลียม
การคิดค้นกรรมวิธีขุดเจาะน้ำมัน การดำเนินการ และการตรวจสอบโปรแกรมขุดเจาะ ถือเป็นหน้าที่หลักของวิศวกรปิโตรเลียม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วิศวกรปิโตเลียม ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ถึงแม้ว่าปัจจุบัน การพัฒนาพลังงานสะอาดจะเติบโตขึ้น แต่น้ำมันยังคงเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอนาคตอยู่ อีกทั้ง วิศวกรปิโตรเลียมจำนวนหนึ่งก็เริ่มจะเกษียณอายุตัวเองแล้ว ตามรายงานของกระทรวงแรงงาน สหรัฐอเมริกา ภายในปี 2026 อาชีพวิศวกรปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 15 %

สายงานที่เกี่ยวข้อง : งานราชการ หรือ หน่วยงานในกำกับของรัฐ (กองเชื้อเพลิง กรมทรัพยากรธรณี, กรมพลังงานทหาร, อาจารย์มหาวิทยาลัย) , บริษัทน้ำมัน , บริษัทเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมัน

5.วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมโยธา ถือเป็นสาขาที่มีอัตราการเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สืบเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต จากรายงานของกระทรวงแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าความต้องการของตลาดแรงงานต่ออาชีพวิศวกรโยธามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 10 % ในปี 2026 นอกจากนี้ น้อง ๆ หรือคนที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิศวกรรมโยธานั้น สามารถต่อยอดไปทำงานในสายอาชีพวิศวกรโครงสร้าง วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือวิศวกรระบบรางได้อีกด้วย ดังนั้นแล้ว สาขานี้ จึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแน่นอนค่ะ

สายงานที่เกี่ยวข้อง : วิศวกรก่อสร้าง , วิศวกรโครงการ , วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ , วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง , วิศวกรประเมิณราคา , วิศวกรออกแบบโครงสร้าง , งานด้านการให้คำปรึกษา

6.วิศวกรรมไฟฟ้า
เช่นเดียวกับสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้าถือเป็นอีกสาขาที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต อัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น สืบเนื่องจาก ผู้ที่เรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สามารถทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพย่อย อาทิ วิศวกรพลังงาน, วิศวกรอุปกรณ์ หรือวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ายังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ในสหรัฐอเมริกา อัตราเงินเดือนวิศวกรไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,181,830 บาทต่อปี (71,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

สายงานที่เกี่ยวข้อง : วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง , วิศวกรด้านโทรคมนาคม , วิศวกรระบบควบคุมและเครื่องมือวัด , วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ , วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์

7. วิศวกรรมพลังงานทดแทน
ในปัจจุบัน เทรนด์รักสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง น้อง ๆ หลายคนคงสังเกตถึงการเติบโตของพลังงานสะอาดทั้งไทยและต่างประเทศเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ พลังงานลม หรือรถยนต์พลังงานสะอาด ดังนั้นแล้ว สาขาวิศวกรรมซึ่งจะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในอนาคต ก็คือ วิศวกรรมพลังงานทดแทน นั่นเอง น้อง ๆ ที่อยากเรียนหรือทำงานในสาขาวิศวกรรมพลังงานทดแทน โดยปกติแล้วจะต้องเรียนจบปริญาตรีในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลหรือไฟฟ้าก่อน จากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาโทสาขาวิศวกรรมพลังงาน

สายงานที่เกี่ยวข้อง : วิศวกรและนักวิชาการด้านพลังงาน , ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงาน , ผู้ตรวจวัดและวิเคราะห์ด้านพลังงาน , ผู้จัดการด้านพลังงานในอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม , พนักงานในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆของหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ


และข้อมูลที่เรานำมาแบ่งปันนี้ ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้ถึงความก้าวหน้าของสายงานวิศวกรที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยังพัฒนาหลักสูตรให้ก้าวทันตามโลกอีกด้วย สาขาวิศวกรรมศาสตร์แห่งอนาคต ที่จะทำให้น้องๆ รุ่นต่อไปมีโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ รวมทั้งประสบการณ์ในสายงานใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น 


ที่มา :
7 of The Most In-Demand Engineering Jobs for 2019
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด