หน้าแรก IT ข่าว/บทความไอที

ทิศทางการศึกษาไทย กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา หรือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุดมศึกษา

วันที่เวลาโพส 21 พฤษภาคม 61 11:41 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เจ้าของคำฮิต Thailand 4.0 ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ แถลงในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561 เรื่อง “กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/หัวหน้า คสช. ได้สั่งให้จัดตั้งกระทรวงนี้ขึ้นมาให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ 

ซึ่งกระทรวงใหม่ที่จะเกิดจากการดึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จากกระทรวงศึกษาธิการ มาควบรวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานให้ทุนวิจัยอื่น อาทิ สช. สกว. เบื้องต้นอาจจะใช้ชื่อว่า "กระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา" หรืออาจจะเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุดมศึกษา" โดยกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษานี้ ถูกตั้งขึ้นด้วยเหตุผลหลัก 4 ประการคือ

1. เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กระทรวงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องตอบโจทย์อาชีพคนไทยในอนาคตได้
2. เตรียมผู้ประกอบการสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น Startup และ SMEs
3. เตรียมเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 
4. ประเทศไทยกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งต้องพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี


นายสุวิทย์เผยว่า การนำกระทรวงวิทย์ฯ มาควบรวมกับกระทรวงศึกษาฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในขณะที่ต่างประเทศได้เตรียมเรื่องนี้มานานแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ใช้วิธีควบรวมแบบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยยืนยันว่ากระทรวงนี้จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศ และเป็นการปฏิรูประบบราชการไทยอย่างแท้จริง
 
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงที่ใหญ่มากและต้องยอมรับว่าเขาเองก็มีปัญหามากเช่นกัน จึงอยากแยกเรื่องของเทคโนโลยีในการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาออกมาทำให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแยก สกอ. ออกจากกระทรวง เพราะต้องการปรับสถานะของมหาวิทยาลัยใหม่ให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯนั้น บทบาทในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยของประเทศอยู่กระจัดกระจายและซ้ำซ้อน ดังนั้น รัฐบาลต้องการจัดองคาพยพใหม่ เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 

"ต่อจากนี้เราไม่สามารถแยกคนออกจากเทคโนโลยีได้แล้ว ดังนั้นต้องเริ่มจากการสร้างคนให้พร้อมกับโลกอนาคต สามารถประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการควบรวมนี้จะตอบโจทย์อนาคตอย่างแท้จริง ไม่ใช่การยุบเพื่อให้กระทรวงวิทยาศาสตร์หายไป แต่เปลี่ยนเป็นการจัดรูปแบบให้ชัดเจนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของกระทรวงวิจัยและอุดมศึกษา"  นายสุวิทย์ กล่าว


สำหรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ จะมี 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย กลุ่มงานนโยบายและวางแผน กลุ่มงานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่มงานมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย และ กลุ่มงานมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มงานนโยบายและวางแผน งบประมาณ ทุนวิจัย ทั้งทุนวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จะใช้รูปแบบคล้ายกับของสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Science) ในกลุ่มนี้ จะมีเรื่องงานวิจัย ดาวเทียม ดาราศาสตร์ นิวเคลียร์ ซินโครตรอน จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า
กลุ่มที่ 3 กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยสู่อนาคต และวิจัยประยุกต์ ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
กลุ่มที่ 4 กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ 

ในส่วนรูปแบบการทำงาน แม้จะยังไม่ได้สรุปอย่างชัดเจน แต่เบื้องต้นจะต้องเน้นเรื่องงานวิจัย เพื่อให้มีขีดความสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ อีกส่วนหนึ่งคือหน่วยที่ให้เงินทุนด้านการวิจัย แต่ยังต้องมีการหารือเพื่อกำหนดรูปแบบทำงานให้สอดคล้องกันต่อไป

ขณะที่ พ.ร.บ.อุดมศึกษา ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษานั้น ไม่มีผลกระทบ สามารถนำที่ทำอยู่มาปรับเปลี่ยนและต่อยอดกันได้ ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะมีการหารือกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งคณะทำงานการจัดตั้งกระทรวงใหม่ 

​ส่วนการควบรวมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกับสำนักงานคณะอุดมศึกษายืนยัน ไม่มีปัญหาตำแหน่งบริหาร เพราะกระทรวงใหม่ น่าจะมีรูปแบบใช้ระบบราชการน้อยมาก ซึ่งจะใช้ระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ ตั้งง่ายยุบง่าย พร้อมยืนยันว่ากระทรวงใหม่นี้จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทยได้ รวมทั้งเป็นการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด